ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อ “ระบบประกันภัยจะช่วยส่งเสริมสุขภาพได้อย่างไร” ในการอบรมหลักสูตรสื่อสุขภาพ รุ่นที่ 2 ซึ่งจัดโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง ภัยพิบัติ และการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัติยราชนารี ณ อาคารศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ว่า ประชากรสูงอายุทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น และ วัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพโดยรวม ทำให้ประชากรเกิดความเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ อัตราการเสียชีวิตของประชากรไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2561 สาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด และ อุบัติเหตุจากการคมนาคมขนส่งทางบก ซึ่งสาเหตุหลักของโรคต่างๆ มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ที่ดำเนินชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น มีตัวช่วยผ่อนแรงและอำนวยความสะดวก ทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานออกแรงของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของอาหารการกินที่คนในยุคปัจจุบันสามารถหาได้ง่าย รวมถึงรสชาติและปริมาณที่ทำให้กินมากขึ้นจนเกิดโรคโดยไม่ทันได้รู้ตัว โดยประเทศไทยมีประชากรกว่า 14 ล้านคนที่เป็นโรคในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable diseases) หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรทั้งหมด เป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 25.2 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยง อีกทั้งจะช่วยลดโอกาสที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาวด้วยด้านจำนวนคนป่วยและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้สวัสดิการที่ภาครัฐจัดหาให้อาจไม่เพียงพอและครอบคลุมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายจริง การประกันสุขภาพจึงเป็นส่วนสำคัญเป็นเครื่องมือทางการเงินการคลังที่มีบทบาทจัดการความเสี่ยงทางการเงินในกรณีที่ประชาชนมีปัญหาสุขภาพ และด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้ความคาดหวังและความต้องการบริการสุขภาพและบริการสุขภาพกึ่งบริการสังคมมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้น การทำประกันสุขภาพจึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่จะช่วยลดภาระค่ารักษาที่ดีที่สุด เพราะเป็นการร่วมกันเฉลี่ยภัยที่เกิดขึ้น โดยบริษัทประกันภัยจะกำหนดผลประโยชน์ความคุ้มครองที่หลากหลายให้สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย อัตราค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่ปรับเปลี่ยนไปตามอายุ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในแต่ละช่วงอายุ โดยปัจจุบันมีผู้ทำประกันสุขภาพส่วนตัวกับบริษัทประกันภัยกว่า 10 ล้านคน
ทั้งนี้ การประกันสุขภาพในปัจจุบัน รับประกันโดยบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย หากเป็นการรับประกันภัยโดยบริษัทประกันวินาศภัย ผู้เอาประกันภัยสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ เป็นรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว จ่ายเบี้ยปีต่อปี ถ้าซื้อจากบริษัทประกันชีวิต ต้องมีกรมธรรม์หลักเป็น กรมธรรม์ประกันชีวิตก่อน จึงจะซื้อสัญญาการประกันสุขภาพเพิ่มเติมแนบกับกรมธรรม์ประกันชีวิตหลัก การประกันภัยสุขภาพมีทั้งแบบรายบุคคล และ ประกันกลุ่ม โดยการประกันภัยสุขภาพแบบรายบุคคล ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัยที่ตนเองซื้อไว้ จะคุ้มครองเมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทำให้ผู้เอาประกันภัยได้อุ่นใจ หากเกิดโรคร้ายแรงขึ้น ส่วนการประกันสุขภาพแบบกลุ่ม เป็นการประกันสุขภาพบุคคลหลายคนภายใต้กรมธรรม์ฉบับเดียว โดยที่มีนายจ้างเป็นผู้ถือกรมธรรม์ และมีลูกจ้างเป็นผู้เอาประกันภัย หรืออาจเรียกว่าเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเอกสารใบรับรองการเอาประกันภัย หรือบัตรประกันสุขภาพ เพื่อใช้สิทธิรักษาพยาบาล โดยให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับค่าชดเชย ค่ารักษาพยาบาล เมื่อมีการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ประกันสุขภาพแบบกลุ่มเหมาะสำหรับ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถวางแผนการเงินได้ล่วงหน้า เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร เพราะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในคุณภาพชีวิตของลูกจ้างและให้ความสำคัญแก่ลูกจ้างนอกจากนี้ เพื่อลดความเสี่ยง และเป็นแรงจูงใจให้ผู้เอาประกันภัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต บริษัทประกันภัยได้ออกนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่เบี้ยประกันภัยแปรผันตามสุขภาพปัจจุบันของผู้เอาประกันภัย โดยได้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการและติดตามข้อมูลผู้เอาประกันภัย ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดี มีการออกกำลังกาย มีสุขภาพที่ดีตามเงื่อนไข บริษัทจะมีการปรับลดเบี้ยประกันภัย แต่ในทางกลับกัน หากผู้เอาประกันภัยสุขภาพไม่ดี ส่วนลดที่ผู้เอาประกันภัยเคยได้รับจะหายไปหรืออาจจะปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัย เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนลูกค้าเชิงป้องกัน หรือ Preventive มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดี เจ็บป่วยน้อยลง และเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกค้าและสุขภาพโดยรวมของคนในประเทศ
“ปกติการทำประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ มักเป็นไปในลักษณะตั้งรับ ใครเจ็บป่วย ก็คอยตามจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้ ในอนาคตอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้เป็นในเชิงป้องกัน คือช่วยป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น มีมาตรการจูงใจให้ไปออกกำลังกายด้วยส่วนลดพิเศษ ให้สิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ร่วมกิจกรรมเพื่อสุขภาพแล้วได้คะแนนสะสมเพื่อลดเบี้ยประกัน หรือรับของรางวัลต่างๆ เป็นต้น สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินการปรับปรุงระบบการประกันภัยสุขภาพของไทยให้สอดคล้องกับนโยบายของของภาครัฐ ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้ดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับการส่งเสริมสุขภาพดังกล่าว ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยดูแลสุขภาพตัวเองตั้งแต่ต้น ผลที่ตามมาก็คือ มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการรักษาพยาบาลย่อมลดลงไปด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย