ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวและการส่งต่อข้อความกรณีการปรับเพิ่มความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยมีการสรุปข้อมูลว่า ถ้ารถมีประกันภัยชนเสียชีวิต แต่ละชีวิตจะได้รับความคุ้มครองรายละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถ้าเจ้าของรถไม่ทำประกันภัยไว้ ต้องรับผิดชอบเอง ถ้าเสียชีวิต 4 ราย จ่ายไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท ดังนั้น อย่าให้กรมธรรม์รถขาดอายุแม้แต่วันเดียว เพราะอาจหมดตัว”
สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่า เป็นข้อความที่มีการส่งต่อกันมาซึ่งมีข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน เนื่องจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี รวมถึงความรับผิดชอบของเจ้าของรถและผู้ขับขี่ ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสำคัญ โดยไม่ได้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด
สำหรับการประกันภัยรถยนต์ ได้มีการปรับเพิ่มความคุ้มครองตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เอกสารประกอบ เอกสารแนบท้าย กรมธรรม์ประกันภัย และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงในครั้งนี้ คือ การเพิ่มความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.- ภาคบังคับ) กรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพอย่างถาวร ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง และเสียชีวิต จากเดิมที่คุ้มครอง 200,000 – 300,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000 – 500,000 บาท แล้วแต่กรณี และการปรับเพิ่มความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) กรณีบุคคลภายนอกเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท สำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยส่วนที่เกินจาก 2,000,000 บาท ให้ชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง โดยสูงสุดไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัย นอกจากนี้
ยังมีการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การกำหนดรหัสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานราคาค่าซ่อมรถยนต์ รวมถึงการปรับปรุงข้อยกเว้นต่าง ๆ เป็นต้น
โดยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงของการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละกรณี ประกอบกับรถยนต์คันที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้จัดทำประกันภัยรถยนต์ประเภทใดไว้บ้าง เช่น จัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.ฯ) เกิดอุบัติเฉี่ยวชนคนเสียชีวิต แต่มิได้จัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจไว้ บริษัทประกันภัยก็จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ จำนวน 500,000 บาท หรือ กรณีที่รถยนต์ได้จัดทำประกันภัยทั้งการประกันภัยรถภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้ บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับกรณีเสียชีวิต ตามสัญญาประกันภัยภาคบังคับ จำนวน 500,000 บาท และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ จะจ่ายสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท สำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยส่วนที่เกินจาก 2,000,000 บาท ให้ชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง โดยสูงสุดไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัย ซึ่งการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว ไม่ได้จ่ายเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท ตามข้อความที่ส่งต่อกันแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ความรับผิดชอบของเจ้าของรถและ/หรือผู้ขับขี่ ที่มิได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากรถที่ไม่จัดให้มีการประกันภัยรถภาคบังคับไว้ สามารถขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นได้ที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สำหรับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท และค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต จำนวน 35,000 บาท รวมกันไม่เกิน 65,000 บาท
“สำนักงาน คปภ. ขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวลือที่ได้รับหรือความถูกต้องของข้อมูลที่มีการส่งต่อกันมาก่อน หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
Post Views: 610