นางสาวชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัยต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศที่จะเปลี่ยนไปจากการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (TFRS17) ในปี 2568 ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีความซับซ้อน และมีวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่มีความแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวปฏิบัติทางบัญชีและการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. จึงได้เตรียมความพร้อมพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุน (RBC) เพื่อรองรับผลกระทบจากมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย โดยได้รับเกียรติจาก นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. และคณะทำงานจากบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุม สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจประกันภัยในการนำ TFRS17 มาใช้ปฏิบัติ ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบจากมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย” ร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. และที่ปรึกษาโครงการ บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์การกำกับความมั่นคงทางการเงินที่เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงและการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สิน และเพื่อให้ผลลัพธ์ของโครงการก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงแก่ระบบประกันภัย
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ร่วมกับบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด จัดทำแบบสอบถามเพื่อใช้ประกอบการศึกษา วิเคราะห์ และปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบจากการบังคับใช้ TFRS17 และได้มีการจัดประชุมชี้แจงเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการตอบแบบสอบถามให้กับภาคธุรกิจประกันภัยด้วย โดยโครงการฯ นี้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการบังคับใช้ของ TFRS17 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระดับของการจัดกลุ่มสัญญาประกันภัย (Level of Aggregation) และขอบเขตของสัญญาประกันภัย (Contract Boundary) เนื่องจากเป็นหมวดตั้งต้นที่มีผลกระทบต่อการศึกษาหมวดอื่น ๆ ระยะที่ 2 จะเป็นการศึกษาหมวดต่าง ๆ เช่น เรื่องกระแสเงินสดสำหรับภาระผูกพัน (Future Cashflow) และการคิดลด (Discounting) เป็นต้น และระยะที่ 3 จะเป็นการทำ Market Test เพื่อประเมินผลกระทบเชิงปริมาณจากการพัฒนาหลักเกณฑ์ฯ ต่อภาคธุรกิจประกันภัยไทย
สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและมีความซับซ้อน ดังนั้น การดำเนินการต่าง ๆ ทุกระยะของโครงการจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจ เพื่อให้บริษัทประกันภัยเข้าใจเจตนารมณ์ สามารถให้ข้อมูลประกอบการดำเนินโครงการได้อย่างครบถ้วน ซึ่งสำนักงาน คปภ. สามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปประมวลผล วิเคราะห์ และปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบจากการบังคับใช้ TFRS17 และผลกระทบของบริษัทประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Post Views: 72