อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน ที่ปราศจากความระมัดระวัง รวมถึง สภาพรถ สภาพถนนและสภาพสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จากข้อมูล www.Thairsc.com ในปี 2564 ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมากกว่า 13,600 ราย และจากข้อมูลผู้ประสบภัยที่มาใช้สิทธิ์ที่ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มีผู้เสียชีวิตในถนนทางตรง สูงถึง 64% รองลงมาคือทางโค้ง 17% และทางแยก 11% แต่ ส่วนบริเวณ วงเวียน ตัวเลขเป็น 0 และอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นที่ถนนสายรอง ถนนในชุมชน โดยเฉพาะตามสี่แยกต่างๆ ที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร
จากข้อมูลพบว่า “วงเวียน” ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 40-50 % แต่ “วงเวียน” ไม่ได้เหมาะสมกับทุกทางแยก ขึ้นอยู่กับจำนวนและปริมาณการจราจร หากเป็นทางแยกที่มีการจราจรไม่หนาแน่นมากจะเหมาะสำหรับใช้วงเวียนมากกว่าสัญญาณไฟจราจร แต่ปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุด้วยวงเวียนหลายแห่ง โดย บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนด้วยวงเวียน โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้จัดทำโครงการ วงเวียนช่วยชีวิต เพื่อเชิญชวนชุมชนปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงจุดอันตรายบริเวณทางแยกอันตรายในชุมชนของตน ด้วยการจัดทำวงเวียน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยทางถนนของชุมชน โดยมีบริษัทกลางฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำ โดยในตอนนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้มีการดำเนินการจัดทำวงเวียนไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน จังหวัดเชียงราย สำนักงานเทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง เทศบาลตำบลบวกค้าง จังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งภายหลังจากการจัดทำวงเวียนทั้ง 4 แห่ง พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่วงเวียน เป็น “0”
การทำวงเวียนจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยทางถนนของชุมชน วงเวียนจึงเป็นเครื่องมือในการจัดการ จุดเสี่ยง จุดอันตราย บริเวณทางแยกให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน อุบัติเหตุทางถนนในชุมชนลดลงได้ ถ้าทุกคนในชุมชนร่วมกันลดพื้นที่ จุดเสี่ยง จุดอันตรายเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน แต่ที่สำคัญผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนก็ต้องใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท และปฎิบัติตามกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นด้วยเช่นกัน
สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท กลางคุ้มครองผผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
0-2100-9191 ต่อ 5400 – 5403 www.rvp.co.th