ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) (Thailand Insurance Super Leadership Program) รุ่นที่ 2 ณ ห้องเลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา
โดยหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาวิธีการ สร้างสรรค์แนวคิด องค์ความรู้และแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรและการดำเนินธุรกิจทั้งการบริหารความเสี่ยง นวัตกรรมประกันภัยแบบใหม่ การบริหารจัดการองค์กร ผ่านการอภิปราย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ และเสนอข้อคิดเห็น ในเชิงสร้างสรรค์ระหว่างผู้เข้ารับการศึกษาอบรม รวมทั้งให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมสามารถรวบรวมแนวคิด ทั้งในด้านการบริหารธุรกิจ การบริหารรัฐกิจ เทคโนโลยี การบริหารความเสี่ยง และการประกันภัย ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั้งของไทยและของโลก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ
ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายการขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุและความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศต้องเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ภาครัฐ ภาคเอกชนต้องปรับตัวเรื่องการทำงานที่บ้าน Work From Home การใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งจะต้องนำการประกันภัยมาช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับประชาชน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรสำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปี และการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นหลักประกันให้เกษตรกรผ่านระบบประกันภัยเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยง และได้ดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งแน่นอนว่าความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ไม่ได้ อาจจะทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามคาด แต่จะช่วยลดภาระภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วงที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของเรามีความเข้มแข็ง และระบบประกันภัยได้มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนบริหารจัดการความเสี่ยงภายใต้สถานการณ์โควิด
นอกจากนี้ได้มอบนโยบายที่ควรให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ 1. การประกันภัยโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อนชลประทาน ถนน สนามบิน ท่าเรือ และการประกันภัยทรัพย์สินของทางราชการ การประกันภัยรถยนต์ของราชการ 2. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ Climate Change ควรนำระบบประกันภัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมาช่วยอุตสาหกรรมในการบริหารความเสี่ยงและการใช้ระบบประกันภัยมาช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงโรคระบาดซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ และ 3. การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ดิจิทัลเทคโนโลยีจะมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน การนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินการธุรกิจ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน
ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิดนั้น ทำให้การทำธุรกิจและการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ โครงการของรัฐบาลก็มีส่วนที่ใช้ Mobile Application โดยเฉพาะโครงการเยียวยาประชาชน ช่วงสถานการณ์โควิดมีหลายโครงการ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเราชนะนั้นเป็นการใช้การทำธุรกรรมทางมือถือ ระบบการลงทะเบียน การยืนยันตัวตน การโอนเงินจากรัฐบาลไปสู่กระเป๋าเงินประชาชน โรงแรมต่าง ๆ ก็ทำผ่าน Mobile Application เช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่งที่อยู่ในช่วงเฟส 5 เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั้งหมดจากการลดค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประชาชนในระดับฐานราก ระบบประกันภัยก็จะต้องเร่งสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใช้บริการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Application เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อลดต้นทุนของธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้วย จะทำให้ลดต้นทุนการเดินทางการมาติดต่อราชการ และอีกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในสถานการณ์โควิด คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ Aging Society ประชาชนก็จะตระหนักเรื่องดูแลสุขภาพจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลคือการนำเทคโนโลยีเครื่องมือ Automation ต่าง ๆ เข้ามาใช้ไม่ว่าจะเป็น Technology Digital , Artificial Intelligence (AI) , Internet of Things (IoT) มาใช้ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)
ธุรกิจประกันภัยเป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญอย่างหนึ่ง เรื่องของจำนวนประชากรที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ระบบประกันชีวิตจะมีการเติบโต ส่งผลให้ประชาชนให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันภัยจะเป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญในตลาดทุน การใช้มาตรการในการกำกับและส่งเสริมสิทธิประโยชน์กับประชาชน การสร้างแรงจูงใจ การสร้างธุรกิจ การดำเนินนโยบายรัฐบาล ให้สอดคล้องแนวโน้มของโลก ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันให้ประกันภัยมีการเติบโตผ่านกลไกที่มีความหลากหลาย
ทางด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหลักสูตร Super วปส. ว่าหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) (Thailand Insurance Super Leadership Program) รุ่นที่ 2 เป็นหลักสูตรที่มีการต่อยอดจากหลักสูตร วปส. และหลักสูตร Super วปส. รุ่นที่ 1 เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงระดับผู้นำองค์กรจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์เชิงวิเคราะห์ การบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย เทคโนโลยี การเงิน การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนการนำเสนอแนวทางและการประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ โดยสอดคล้องกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลก ตลอดจนการเพิ่มบทบาทของระบบประกันภัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
สำหรับหลักสูตร Super วปส. รุ่นที่ 2 ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาให้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารที่เข้ารับการศึกษาอบรมได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีการคัดเลือกศิษย์เก่าหลักสูตร วปส. ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 10 ที่มีประวัติการเรียนดีเด่น เข้าร่วมกิจกรรมของหลักสูตร วปส. อย่างสม่ำเสมอ หรือทำประโยชน์ต่อสำนักงาน คปภ. หรือต่อระบบประกันภัย และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งสิ้น 50 คน เพื่อเข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้ ซึ่งประกอบด้วย ภาคเอกชน จำนวน 22 คน ภาครัฐ จำนวน 6 คน ภาคการเงิน จำนวน 6 คน และภาคธุรกิจประกันภัย จำนวน 16 คน โดยจัดอบรมตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคม 2565 เรียน 1 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง ซึ่งในหลักสูตรจะมีกิจกรรม ดังนี้ 1. บรรยายสัมมนา อภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิเคราะห์เชิงวิพากษ์ และเสนอความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ โดยเน้นให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมอภิปราย Debate กันเพื่อแสวงหาวิธีการ แนวคิดในรูปแบบใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาตามที่วิทยากรได้หยิบยก 2. การประมวลผลความรู้ สรุปแนวความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ และนำเสนอโดยคณะผู้เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาอบรมคาบสุดท้าย 3. การศึกษาดูงานภายในประเทศและต่างประเทศ และ 4. กิจกรรมเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม
“หลักสูตร Super วปส. รุ่นที่ 2 จะทำให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมสามารถสร้างสรรค์แนวคิด องค์ความรู้และแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรและการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการบริหารธุรกิจ การบริหารรัฐกิจ เทคโนโลยี การบริหารความเสี่ยง นวัตกรรมประกันภัยแบบใหม่ การบริหารจัดการองค์กร ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั้งของไทยและของโลกได้ทันท่วงที สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสำนักงาน คปภ. จะน้อมนำนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาปฏิบัติในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลด้านประกันภัยเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย