เผยรถเบนซ์ ทำประกันภัยภัย พ.ร.บ. และภาคสมัครใจประเภท 1 โดยระบบประกันภัยพร้อมเยียวยา รวม 7.5 ล้านบาท ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุรถยนต์เก๋งยี่ห้อเบนซ์ ป้ายแดง หมายเลขทะเบียน ต 5448 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ฆษ 8497 กรุงเทพมหานคร เหตุเกิดบนทางด่วนขั้นที่ 2 อโศก – ศรีนครินทร์ มุ่งหน้ามอเตอร์วย์ ช่วงข้ามคลองแสนแสบ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้ผู้ขับขี่และโดยสารรถยนต์ฮอนด้าเสียชีวิต 3 ราย และผู้ขับขี่รถยนต์เบนซ์บาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 นั้น เบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสำนักงาน คปภ. เขตบางนา ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสุพรรณบุรี ในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาและที่ตั้งทำพิธีบำเพ็ญกุศลผู้เสียชีวิต ให้ตรวจสอบการทำประกันภัยและเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงาน ความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. เขตบางนา ว่ารถยนต์เก๋งยี่ห้อ เบนซ์ ทะเบียน ต 5448 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 210901/M007528655 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 10 กันยายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 10 กันยายน 2565 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กรมธรรม์เลขที่ 210001/M003067091/711-MS เริ่มคุ้มครองวันที่ 10 กันยายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 10 กันยายน 2565 ไว้กับบริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยของบุคคลภายนอก 2,00,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 5,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อรถยนต์ 3,470,000 บาทต่อครั้ง และคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ของผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร (6 คน) 300,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาทต่อคน และประกันตัวผู้ขับขี่ 300,000 บาท
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย จากการประสานงาน บริษัทประกันภัยดังกล่าวพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทผู้เสียชีวิตโดยเร็ว หากได้ยื่นหลักฐานครบถ้วนแล้ว ซึ่งทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากระบบประกันภัย รายละ 2,500,000 บาท รวมเป็นเงิน 7,500,000 บาท ทั้งนี้ จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท รวม 1,500,000 บาท และจากการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ อีกรายละ 2,000,000 บาท รวม 6,000,000 บาท
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย จากอุบัติเหตุครั้งนี้ และมีความห่วงใยต่อบุตรที่ยังเล็กทั้ง 3 คนของผู้เสียชีวิตที่เป็นเสาหลักในการเลี้ยงดูบุตรที่อยู่ในอุปการะ โดยพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย