ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยศูนย์ Center of InsurTech, Thailand (CIT) จัดงานประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย หรือ OIC InsurTech Award 2022 ภายใต้แนวคิด“AWAKEN THE NEW POWER OF INSURANCE” เพื่อเฟ้นหาสุดยอด InsurTech ของประเทศไทยที่เสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัยที่เป็นเลิศ ซึ่งมีทีมที่ให้ความสนใจสมัครร่วมประกวดเป็นจำนวนมากกว่า 167 ทีม โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทนักเรียน นิสิต/นักศึกษา และประเภทบุคคลทั่วไป โดยมี 10 รางวัล รวมเงินรางวัล 500,000 บาท พร้อมโล่ และการตัดสินรอบชิงชนะเลิศจะให้ทีมที่ได้รับการคัดเลือกประเภทบุคคลทั่วไป 5 ทีมสุดท้าย และประเภทนิสิต/นักศึกษา 5 ทีมสุดท้าย ที่ผ่านการคัดเลือกได้มานำเสนอผลงานที่บูธของสำนักงาน คปภ. ในงาน “Thailand InsurTech Fair 2022” ในวันที่ 8 ตุลาคม 2565 เวลา 12.45 – 14.45 น. ณ อิมแพค เอ็กซิบิชัน ฮออล์ 6 เมืองทองธานี นั้น
ในการนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้มอบหมายให้นายชัยยุทธ มังศรี เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินและมอบรางวัลและมีคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายทำนุ อมาตยกุล ประธานคณะอนุกรรมการดิจิทัลเพื่อการพัฒนาการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย คุณกัลยา จุกหอม ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารอาวุโส สายงานวิชาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย คุณอมฤต ฟรานเซน เลขาธิการ สมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณพรชัย แสนชัยชนะ Brand Director บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกลยุทธ์องค์กร สำนักงาน คปภ และนายชินพงศ์ กระสินธุ์ Head of Center of InsurTech, Thailand (CIT) โดยการนำเสนอของแต่ละทีมในรอบชิงขนะเลิศเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 มีความหลากหลายและมีความน่าสนใจ ซึ่งการพิจารณาตัดสินรอบชิงชนะเลิศเป็นไปอย่างเข้มข้น
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก 100 คะแนน ประกอบด้วย 1. Wow factor & Pitching Presentation โครงการน่าสนใจ ฟังแล้วน่าตื่นเต้น มีไอเดียใหม่ ๆ และดึงดูดในการฟังครั้งแรกได้ สามารถนำเสนอผลงานในเวลาที่กำหนดได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งตอบคำถามคณะกรรมการได้อย่างชัดเจนครบถ้วน 30 คะแนน 2. Problem / Pain Point ปัญหาที่เสนอนั้นมีอยู่จริง และปัญหานั้นเกิดผลกระทบ มีผู้ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด หรือความรุนแรงของปัญหาที่เกิด และมีผลกระทบมากถึงมากที่สุด 20 คะแนน 3. Product / Solution สิ่งที่เสนอมานั้น สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด แก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ ครบทุกมิติ และมีความเป็นไปได้ในบริบทประเทศไทย 20 คะแนน 4. Market Opportunities มีโอกาสทางการตลาดมากน้อยเพียงใด 10 คะแนน และ 5. Technology ที่นำมาใช้สามารถตอบโจทย์ตรงกับ Solution ที่ต้องการ มีความน่าสนใจ ทันสมัย เป็นเรื่องใหม่ ไม่ค่อยมีผู้ที่เข้าใจเชิงลึกมากนัก หรือยังไม่มีการใช้งานแพร่หลายในธุรกิจประกันภัยมากนัก มีการประยุกต์ Technology เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการนำมาใช้งานขั้นพื้นฐาน 20 คะแนน
สำหรับผลการตัดสินการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย OIC InsurTech Award 2022 ประเภทนิสิต / นักศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Schmettering ภายใต้แนวคิด “จากแนวโน้มที่มีผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยบางรายมีความกังวลกับการพูดคุยต่อหน้ากับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ จึงได้คิดค้น Application สำหรับผู้ป่วยทางจิตเวช สามารถพบนักนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ทางออนไลน์ เพื่อทำการวินิจฉัยประเมินวัดความเสี่ยง และคำนวณเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมโดยใช้เทคโนโลยี AI” โดยได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Plantpot ภายใต้แนวคิด “Long term health care insurance ประกันภัยสุขภาพรูปแบบใหม่สำหรับสังคมยุคใหม่” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม METTA ภายใต้แนวคิด “Community สำหรับผู้สูงวัยบน Metaverse เพื่อการเสนอขายประกันภัยที่ใช่ สำหรับไลฟ์สไตล์ที่ชอบ” และรางวัลชมเชยลำดับที่ 1 ได้แก่ ทีม Code Line ภายใต้แนวคิด “Application เพื่อ surveyor ยกระดับการเคลมรถยนต์และการบริการลูกค้า” รางวัลชมเชยลำดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Infinity ภายใต้แนวคิด “เพิ่มประสิทธิภาพการประเมินความเสียหายรถยนต์ในโลกเสมือนจริง ผ่านเทคโนโลยี MR”
ส่วนผลการตัดสินประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมประกันสุขภาพ ซ่อมอู่ ฟิน ฟิน ภายใต้แนวคิด “Platform สำหรับเชื่อมต่อคลินิกแพทย์เอกชนที่มีระบบการควบคุมต้นทุนค่ารักษา ปริมาณยาที่จ่าย (dosage) และมาตรฐานคิดค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงระบบตรวจจับการฉ้อฉล ซึ่งจะช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถออกผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่คุ้มครองด้านการเข้ารักษาที่คลินิกฯ ได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้ได้เบี้ยประกันราคาไม่แพง เหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่มีสวัสดิการพื้นฐานอยู่แล้ว สามารถเข้าถึงและเลือกใช้การประกันสุขภาพเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้น” ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Blue oak ภายใต้แนวคิด “ลดความสูญเสียเมื่อเกิดภัย เพิ่มความอุ่นใจให้ผู้เอาประกัน หั่นค่าเบี้ยให้ถูกลงสำหรับผู้สูงอายุ” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Meddit ภายใต้แนวคิด “Meddit สรุป พร้อมแนะนำประกันของคุณโดย AI” และรางวัลชมเชยลำดับที่ 1 ได้แก่ ทีม Covest Paratex ภายใต้แนวคิด “ระบบประกันรูปแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสัญญาอัจฉริยะ บนโครงข่ายบล็อกเชน” และรางวัลชมเชยลำดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Buddy Survey ภายใต้แนวคิด “Auto Claim Rider Service”
เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวแสดงความยินดีและร่วมถ่ายภาพทางออนไลน์ พร้อมกล่าวให้โอวาทแก่ผู้ได้รับรางวัลในตอนหนึ่งว่า รางวัลนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการประกันภัย ประจำปี 2565 หรือ OIC InsurTech Awards 2022 เพื่อจะเฟ้นหา “NEW POWER พลังใหม่” จากคนรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยพลิกโฉมโลกประกันภัย ให้สามารถเสริมสร้างอุตสาหกรรมประกันภัยให้แข็งแกร่ง รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ตลอดจนช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านการประกันภัย โดยโครงการปีนี้สามารถจัดกิจกรรม Bootcamp เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้าน InsurTech และความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการประกันภัย ซึ่งจัดทั้งในรูปแบบ Online และ Offline เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาทักษะในการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) รวมถึงมีทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิคอยเป็น Coach ให้คำปรึกษาแบบ Intensive Coaching เพื่อช่วยกระตุ้นความคิดและบ่มเพาะผลงานให้สามารถตอบโจทย์ Pain Point ต่าง ๆ ได้ตรงจุด และสามารถนำเสนอนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการประกันภัย ที่มีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในการต่อยอดไปสู่ภาคธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ และจากการประกวดครั้งนี้ทำให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่และกลุ่ม InsurTech Startup ในประเทศไทยนั้น มีศักยภาพไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ เราได้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญของการร่วมกันพลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันภัย และมีพลังในการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งศูนย์ CIT จะมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมและสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรม พร้อมทั้งประสานพลังคนทุก generation โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) ซึ่งจะเป็นประโยชน์เป็นอันมากต่อธุรกิจประกันภัยของไทยในอนาคต
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการปีนี้จะช่วยส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมประกันภัยให้แก่ กลุ่มนิสิต นักศึกษา บุคลากรในวงการประกันภัย และ Tech Firm ที่มีความสนใจได้นำความรู้ไปพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รับรางวัลทุกทีม ขอให้รักษาคุณภาพและหมั่นพัฒนาศักยภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อจะได้นำความรู้มาต่อยอดและช่วยกันพัฒนา InsurTech ของประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย