ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) แถลงความสำเร็จกลไกการพัฒนาชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากยุคที่ 1 “หมู่บ้านอุตสาหกรรม” ยุคที่ 2 “หมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว หรือ หมู่บ้าน JBIC” และยุคที่ 3 “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือ DIPROM CIV” สู่กลไกปัจจุบัน ยุคที่ 4 “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community” ด้วย 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม พร้อมโชว์ความสำเร็จ การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ชัยนาท เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2565
ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ปี 2565 ดีพร้อมกำหนดทิศทางการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนใหม่ มุ่งเป้าพัฒนาไปสู่การเป็น ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community ซึ่งจะเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยต่อยอดภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์ในปัจจุบัน มุ่งยกระดับไปสู่ Gen ใหม่เน้นการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ด้วย 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม ประกอบด้วย
- แผนชุมชนดีพร้อม ดีพร้อมได้ทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาค โดยศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ และวิเคราะห์จุดเน้นของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด เพื่อชี้เป้าการพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยยึดหลักการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยการอัพเกรดหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือ DIPROM CIV สู่ DIPROM Community เพื่อให้สามารถกำหนดแผนพัฒนาธุรกิจชุมชนที่มีความเฉพาะทางในแต่ละชุมชนได้ รวมทั้งแผนดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศการประกอบการอุตสาหกรรม (I – Single form) ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากนี้จะช่วยตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติเป้าหมายที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ผ่านการดำเนินงานของ 12 ดีพร้อมเซ็นเตอร์ (DIPROM CENTER) ที่มีบทบาทเป็นหน่วยวิชาการและมีภารกิจส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชนในเชิงพื้นที่
- คนชุมชนดีพร้อม ดีพร้อมได้ปั้นผู้นำชุมชนและสร้างคนในชุมชนดีพร้อม ให้ผู้นำชุมชนดีพร้อมมีความเป็นผู้นำยุคใหม่ของชุมชนที่มีองค์ความรู้ในทุกมิติและสามารถถ่ายทอดกลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อมให้กระจายไปในชุมชนได้อย่างครบวงจร รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยเป็นตัวเชื่อมในการดึงผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาร่วมยกระดับการพัฒนาชุมชนตามโมเดลดีพร้อมฮีโร่ (DIPROM Heroes) นอกจากนี้ ดีพร้อม พัฒนานักออกแบบชุมชน และร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการบ่มเพาะนักศึกษาในพื้นที่ให้มองเห็นโอกาสและช่องทางการทำงานในชุมชนที่ตอบโจทย์การพัฒนาในพื่นที่ เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง รวมถึงยังพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชนผ่านการวิเคราะห์แผนชุมชนดีพร้อมมาเป็นหลักสูตรในการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะให้กับแรงงานกลับถิ่นและคนว่างงานเป็นอาชีพเสริมและสร้างรายได้ จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่
- การทำบรรจุภัณฑ์จากผักตบชวา เป็นการนำวัชพืชในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทำเป็นบรรจุภัณฑ์ให้กับผลไม้ท้องถิ่น คือ ส้มโอขาวแตงกวา ซึ่งเป็นสินค้าเด่นในพื้นที่ชัยนาท
- การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า เปลี่ยนจากของเหลือใช้ให้เป็นของที่ระลึก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชน
- การทำผลิตภัณฑ์ไม้กวาดทางมะพร้าวและไม้กวาดดอกหญ้า ด้วยการเปลี่ยนขยะทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และสามารถสร้างรายได้ในช่วงระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต
- แบรนด์ชุมชนดีพร้อม เน้นการสร้างแบรนด์ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นแบรนด์ของชุมชนดีพร้อมที่สามารถสื่อถึงความโดดเด่นของพื้นที่ โดยได้สร้าง 4 แบรนด์ชุมชนดีพร้อมในชัยนาท ได้แก่ 1) ชุมชนสรรพยา อำเภอสรรพยา โดยใช้โรงพักสรรพยา 100 ปี 2) ชุมชนเนินขาม อำเภอเนินขาม 3) ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง และ 4) ชุมชนตลาดย้อนยุคสรรคบุรี อำเภอสรรคบุรี ซึ่งแบรนด์ชุมชนดีพร้อมนี้สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง และได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของพื้นที่ สร้างความสนใจในผลิตภัณฑ์ชุมชนจนทำให้มีการกระจายตัวของเม็ดเงินให้หมุนเวียนลงสู่ชุมชน
- ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ให้สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ขนมเปี๊ยะกุยหลี เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์
โดยถอดบทเรียนมาจากแผนชุมชนดีพร้อม ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น
ตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยเฉพาะสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI)
ของพื้นที่อย่าง ส้มโอขาวแตงกวา ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น - เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม ดีพร้อม มี ดีพร้อมเซ็นเตอร์ (DIPROM CENTER) ที่จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำ โดยการส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาให้บริการตามความต้องการของชุมชน อาทิ เครื่องเผาข้าวหลามด้วยไฟฟ้า เครื่องขอดเกล็ดปลา เครื่องอบไล่ความชื้นพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงการใช้งาน ตลอดจนการส่งเสริมการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรม ในการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูก การใส่ปุ๋ย หรือ สารเคมีต่าง ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดเวลาในการดำเนินการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ดีพร้อมเซ็นเตอร์ (DIPROM CENTER) ยังมีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยมีเครื่องเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing) เครื่องปริ้นและตัดสติ๊กเกอร์ ไปจนถึงห้องสตูดิโอถ่ายภาพผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่รองรับการให้บริการ
- ตลาดชุมชนดีพร้อม ดีพร้อม ได้มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงชุมชน
ใน 3 มิติ 1) ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาซื้อของในชุมชน 2) กระจายสินค้าไปขายตามร้านสะดวกซื้อ หรือ Modern Trade และ 3) ผลักดันไปสู่ตลาดออนไลน์ อาทิ ดีพร้อมมาร์เก็ตเพลส (DIPROM Marketplace) และแพลตฟอร์มอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมี ถุงดีพร้อม ที่ช่วยขยายโอกาสทางการตลาด และสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในยุคโควิด-19 ให้จำหน่ายสินค้าได้ รวมทั้งมีการสำรวจความต้องการของตลาดและนำมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อีกด้วย - เงินหมุนเวียนดีพร้อม ดีพร้อม ได้ออกมาตรการสินเชื่อระยะสั้นเพื่อผู้ประกอบการ หรือที่เรียกว่า ดีพร้อมเปย์ (DIPROM Pay) โดยให้บริการอัตราดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได ภายในระยะเวลา 3 ปี ร้อยละ 3-5 นอกจากนี้ดีพร้อม ยังร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผ่านโครงการ กสอ. คิด กทบ. ช่วยธุรกิจชุมชน เรียนแล้ว สร้างได้ ขายเป็น เพื่อส่งเสริมทักษะอีคอมเมิร์ชให้กับชุมชน และเพิ่มสภาพคล่องผ่านเงินทุนจากกองทุนหมู่บ้าน
อย่างไรก็ดี “ชุมชนดีพร้อม” หรือ “DIPROM Community” มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยรูปแบบการพัฒนาที่ถอดบทเรียนจากแผนชุมชนดีพร้อมที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในเชิงพื้นที่ และรองรับความต้องการของตลาดภายใต้นโยบายปี 2565 ดีพร้อมแคร์
(DIPROM CARE) เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนชุมชนดีพร้อมให้มีรายได้ สร้างความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำ ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6865-66 ต่อ 4 ติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipromindustry หรือ www.diprom.go.th