วันที่ 4 มกราคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า พอใจการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งในส่วนของงบประมาณกระทรวง พม. และขอบคุณฝ่ายค้านที่ได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสังคมที่ทางกระทรวง พม. ได้ดูแลอยู่ ซึ่งข้อสังเกตเหล่านั้นจะนำไปปรับปรุงและเร่งรัดการทำงานต่อไป และต้องขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่มีความเป็นห่วงเป็นใยความเป็นอยู่กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่ตนเพิ่งได้มาของเดือนธันวาคม 2566 ประเทศไทย พบว่า มีจำนวนผู้สูงอายุเกินร้อยละ 20 ของประเทศ ประมาณร้อยละ 20.1- 20.2 เมื่อเทียบตามกติกาของสากลร้อยละ 7-14 หมายถึงสังคมผู้สูงอายุ ส่วนร้อยละ 14-20 เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ และถ้าเกินร้อยละ 20 เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ตอนนี้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด เท่ากับประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ แต่ศักยภาพในการดูแลเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ทั้งหมด ในปี 2565 มี 4 แสนกว่าคนเท่านั้น นั่นหมายความว่า จากนี้ไปจำนวนประชาชากร Gen Y-Gen Z หรือในอนาคตจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะมีสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่นับวันยิ่งมีมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวว่า หัวใจสำคัญ นอกจากการดูแลผู้สูงอายุให้ทั่วถึงแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องดึงเอาศักยภาพของคนทุกกลุ่มในประเทศไทยช่วงระยะเวลาสั้นออกมา เพราะทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการไม่ได้แปลว่าไม่มีศักยภาพในการทำงาน เพราะทุกคนล้วนเป็นบุคลากร และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมไทย จึงต้องดึงเอาศักยภาพ และเสริมศักยภาพของคนกลุ่มนี้ เข้ามาเป็นโปรดักทิวิตี้ (Productivity) เพื่อให้เกิดรายได้ และพลังขับเคลื่อนของสังคม เพราะไม่เช่นนั้นนับวันจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นและคนต้องใช้เงินสวัสดิการมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับคนที่มีกำลังทำงานที่มีปริมาณน้อยลง จะทำให้คน Gen Y และ Gen Z เป็นคนแบก และไม่อยากให้กลุ่มคนเหล่านี้ถอดใจและเกษียณก่อนวัยอันควรที่ไม่อยากจะแบกรับสวัสดิการเหล่านั้น จึงเป็นเวลาที่สังคมไทยต้องมาเสริมสร้างกลุ่มที่เปราะบางเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยได้
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายอยากให้มีการปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกช่วงวัยนั้น ตนเห็นว่าการขอไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุปัจจุบันที่เป็นขั้นบันได 600 บาท 700 บาท 800 บาท ต่อเดือนนั้น เราใช้เงินปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น ถ้าจะปรับให้เป็น 1,000 บาทถ้วนหน้า ต้องใช้เงินมากขึ้นถึง 60,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากสำนักงบประมาณและรัฐบาลมีเงินพอก็เชื่อว่าอยากจะให้อยู่แล้ว แต่ปี 2565 ประเทศไทยมีคนเสียภาษีจริงๆ 4 ล้านกว่าคน และมีเงินภาษีกับบริษัทห้างร้าน และสรรพสามิต ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรคนไทย หรือมีคนเสียภาษีไม่ถึง 5 ล้านคน ทำให้เงินขาเข้ามีน้อย แต่ทุกคนอยากให้มีถ้วนหน้า ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเน้นกลุ่มเปราะบาง และคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน แล้วค่อยๆดูแลตามลำดับความสำคัญ ซึ่งส่วนตัวอยากจะให้ดูแลสังคมให้ถ้วนหน้าได้จริงๆ อย่างที่ถูกอภิปราย แต่เห็นใจกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณที่มีรายได้น้อยและจำกัด ซึ่งกระทรวง พม. ไม่อยากให้งบประมาณกลายเป็นงบขาดดุลทุกปีๆ ซึ่งปีนี้ กู้มาอีกหลายแสนล้าน และถ้าต้องการถ้วนหน้าจริง จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับสำนักงบประมาณอีก แต่ถ้างบประมาณเพียงพอ ตนคิดว่าไม่ใช่แค่ 1,000 บาท แต่ 3,000 บาท หรือกี่พันบาท เราก็อยากให้ แต่วันนี้ รายจ่ายและรายรับไม่สมดุลกัน
นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า ตนไม่อยากให้มองว่าผู้สูงอายุจะต้องเป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว เพราะสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น หลายคนมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ซึ่งเกิดจากระบบสาธารณสุขของไทยที่มีการพัฒนา ดังนั้นจึงมองว่า สังคมไทยควรให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ เพราะสามารถทำงานเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศไทยได้ ทั้งนี้ หากกลุ่มผู้สูงอายุทำงานได้ ประเทศชาติจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น และสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำหลังวันเกษียณ ซึ่งจะเป็นผลดีที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอภิปรายที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับงบประมาณปี 2567 เพื่อการพัฒนาสังคมนั้น ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาทุกมิติ เพราะหลายประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงทั้งเรื่องความรุนแรงของสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งถือเป็นกำลังใจให้กับกระทรวง พม.
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม #งบประมาณปี2567 #กลุ่มเปราะบาง #เบี้ยผู้สูงอายุ #อภิปราย