ที่ห้องวายุภักษ์ 2 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานเวทีสิทธิเด็ก
ครั้งที่ 30 ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 The Next Step for the Child” พร้อม เปิดตัว กิจกรรม Kick off ให้สัญญาณเคลื่อนพลเด็กและเยาวชน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ร่วมทำกิจกรรมในระดับจังหวัด เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องของสิทธิเด็ก
การขับเคลื่อนและผลักดันในเรื่องของสิทธิเด็ก และการทำกิจกรรมเนื่องในวันสิทธิเด็กสากลโดย มีผู้ร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้แทนเด็กและเยาวชน เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน เด็กชาติพันธุ์ เด็กที่มีความพิการ เด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และผู้แทนหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 135 คน
นายจุติ กล่าวว่า สิทธิเด็กเกิดขึ้นจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child – CRC) เป็นสัญญา
ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สหประชาชาติให้การรับรอง ซึ่ง “เด็ก” หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะ ด้วยการสมรส ปัจจุบัน มีประเทศเข้าเป็นภาคีสมาชิก 196 ประเทศ “สิทธิเด็ก” จึงเป็นสิทธิสากล (Universal Rights) และเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Rights) ที่ต้องได้รับการรับรองและคุ้มครอง โดยสิทธิขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญา
ว่าด้วยสิทธิเด็ก มีดังนี้ สิทธิการมีชีวิตอยู่รอด (Right to Life and Survival) คือ สิทธิของเด็กที่คลอดออกมาแล้ว จะต้องมีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย สิทธิในการพัฒนา (Right to Development) คือ การได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ สิทธิในการได้รับการคุ้มครอง (Right to Protection) คือ การได้รับการคุ้มครอง จากการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด การถูกกลั่นแกล้ง การถูกทอดทิ้ง การกระทำทารุณ หรือการใช้แรงงานเด็ก และสิทธิในการมีส่วนร่วม (Right to Participation) คือ การให้เด็กได้รับบทบาทที่สำคัญ
โดยเด็กมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมในสังคม มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง และได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปี 2562 งานเฉลิมฉลองฉลอง 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก CRC@30 and BEYOND “ความสำเร็จตลอด 30 ปี กับความท้าทายที่ต้องเผชิญ เพื่อก้าวเดินไปอย่างเข้มแข็ง” กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 พ.ย. 62 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของไทยต่อการดำเนินงานตามอนุสัญญาและทิศทางการพัฒนางานด้านสิทธิเด็ก 2) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก 3) เพื่อส่งเสริม
การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในงานสิทธิเด็ก และ 4) เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างกระแสการรวมพลังเพื่อสิทธิเด็ก
ซึ่งในวันที่ 21 พ.ย. 62 เวลา 14.00 – 15.00 น. จะมีพิธีเปิดงานและประกาศเกียรติคุณผู้มีคุณูปการต่องานสิทธิเด็ก จำนวน 29 รางวัล โดยกราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
เสด็จเป็นประธานและพระราชทานโล่เกียรติคุณ นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย. 62 ยังมีการจัดประชุมสมัชชาสหวิชาชีพ
ด้านเด็ก รวม 12 หัวข้อ + Best Practice 4 หัวข้อ 5 รูปแบบ แบ่งเป็น 1) การนำเสนอบทเรียนความสำเร็จ 4 เรื่อง (Best Practice)
2) การนำเสนอผลงานทางวิชาการ 2 เรื่อง (Symposium) 3) การนำเสนอผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 เรื่อง (Plenary Discussion)
4) การประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ในงานเฉพาะ 7 เรื่อง (Workshop) และ 5) การนำเสนอผลงาน
โดยผู้ปฏิบัติงาน (Poster Session)
นายจุติ กล่าวต่ออีกว่า ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้ นิทรรศการ 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กิจกรรมการเรียนรู้สิทธิเด็กเบื้องต้น กิจกรรมรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก การรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อการประชุมสมัชชาสหวิชาชีพ เกี่ยวกับกระบวนการขับเคลื่อนสิทธิเด็กในทศวรรษที่ 4 โดยแบ่งเป็น 12 ประเด็น ได้แก่ 1) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก
2) กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก 3) การขจัดความรุนแรงต่อเด็ก 4) ครอบครัวและการเลี้ยงดูทดแทน 5) การศึกษา เวลาว่าง
และกิจกรรมทางวัฒนธรรม 6) สุขภาพและสวัสดิการพื้นฐาน 7) เด็กพิการ 8) เด็กชาติพันธุ์ เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ
9) เด็กในสถานการณ์โยกย้ายถิ่นฐาน 10) การดูแลทางเลือกสำหรับเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 11) สิทธิเด็กกับสิ่งแวดล้อม และ 12) สิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ที่จะทำประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิเด็ก และตัวเด็กเองต้องเห็นความสำคัญและสำรวจตัวเองเสมอว่าเราได้รับสิทธิ ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ทุกๆท่าน ควรให้การผลักดันและเห็นความสำคัญกับสิทธิเด็ก โดยหาแนวทางและวิธีการที่จะทำให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการอยู่รอด สิทธิในการได้รับการคุ้มครอง สิทธิการพัฒนา และสิทธิการมีส่วนร่วมในสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีและเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาศักยภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป