วันที่ (19 ส.ค. 62) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร นายจุติ ไกรฤกษ์
รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)
เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) โดยมี
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.)
พร้อมด้วยนางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ และศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ชมรมผู้สูงอายุ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และสถาบันการศึกษา รวมจำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมงาน
นายจุติ กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์ในปี 2564 อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เกิดจากอัตราการเกิดที่ลดลงเพราะการพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น
ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุของประเทศไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ
กับประชากรผู้สูงอายุ โดยการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 20 ปี เพื่อใช้ใน การขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสภาพแวดล้อม
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) สู่การปฏิบัติ โดยมีการเสวนาประเด็นเร่งด่วนและทิศทางการขับเคลื่อนสังคมไทยเพื่อรองรับการเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 ให้แก่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นการจัดทำและวิพากษ์แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ฉบับที่ 2 ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ทั้งในระดับส่วนกลางและจังหวัด ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้าน การพัฒนาสังคมของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการเตรียมระบบรองรับสังคม สูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทย เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) และทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุในประเด็นที่ท้าทายในอีก 15 ปีข้างหน้า ภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) ตลอดจนการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุของประเทศทั้งในระดับสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. 2564 และสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี พ.ศ 2574 ต่อไป” นายจุติ กล่าวในตอนท้าย