นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการการส่งเสริมการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ และการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้ “กิจกรรมวิชาการด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การเคหะแห่งชาติ” พร้อมลงนามความร่วมมือกับ 14 หน่วยงาน โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมลงนาม ได้แก่ นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดินดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นางบุษกร ปราบนศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ นายปกรณ์ อาภาพรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.กนกศรี ศรินนภากร นักวิจัยและรักษาการหัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ นายวิชานัน นิวาดจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นางสาวสุวรรณี วังกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ นายสุวัชชัย ใจข้อ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทย นายธำรง บูรณตระกูล รองผู้ว่าการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การประปานครหลวง นายนเรศ ไชยวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานระบบไปรษณีย์
และปฏิบัติการนครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นายวิชัย วิรักพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผศ.จรายุทธ ประทีปวรกาญจน์รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี พร้อมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติและสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 5 (สันทนาการ) การเคหะแห่งชาติ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติให้เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” โดยบูรณาการฐานข้อมูลที่อยู่อาศัย สนับสนุนการพัฒนาและบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ/องค์ความรู้ด้านที่อยู่อาศัยร่วมกันให้เป็นระบบ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ที่อยู่อาศัย ตลอดจนสนับสนุนการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศและช่องทางการเข้าถึงความต้องการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน
ทั้งนี้ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมานั้น เป็นวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 50 ปี การเคหะแห่งชาติถือเป็นโอกาสอันดีในการใช้วาระสำคัญนี้จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการการส่งเสริมการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ และการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกันทั้ง 15 หน่วยงาน ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ
และการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ (https://nhic.nha.co.th)
มีการเชื่อมโยงชุดข้อมูลภายในประเทศจาก 145 หน่วยงาน ประมาณ 2,900 ชุดข้อมูล แบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 13 หมวดหมู่ และระบบบัญชีข้อมูลของศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ (CKAN) ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้รับรางวัล Excellent Open Data Hub ในงาน Digi Data Awards 2022 สำหรับการดำเนินงานในปี 2566 – 2567 การเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อตอบโจทย์3 มิติในการกำหนดนโยบายที่อยู่อาศัย โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดทำระบบวิเคราะห์ที่คาดการณ์/พยากรณ์สถานการณ์ที่อยู่อาศัยของประเทศ เช่น อุปสงค์และอุปทานด้านที่อยู่อาศัย กำลังซื้อของประชาชน เป็นต้น นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติมีแผนจะยกระดับการเชื่อมโยงพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยกับนานาชาติ และจัดทำฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยของประเทศให้ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการเชื่อมโยงสู่ระดับนานาชาติ 192 ประเทศในอนาคต
“การลงนามร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ทั้ง 15 หน่วยงานในวันนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติและการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ และงานวิจัยด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การวิจัยการฝึกอบรม การสัมมนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งยกระดับประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการสังคมและการช่วยเหลือของภาครัฐ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของรัฐบาล” นายทวีพงษ์ กล่าวย้ำ