พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมมือกับบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด และจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “ชุมชนชายฝั่งเข้มแข็ง ร่วมแสดงพลัง สู่ ทช.หนึ่งเดียว” ระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2567 โดยมีนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธาน พร้อมกันนี้ นายอภิชาติ ตระกูลไทยงาม ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย และนายไชยภูมิ สิทธิวัง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) ตลอดจนผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมฯ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด ผู้นำชุมชน และตัวแทนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 6 ภูมินิเวศ จำนวน 500 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย เปรียบดั่งเพชรเม็ดงามของโลก สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาสัมผัสความงดงามและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งความมั่นคงทางอาหารที่โดดเด่น จนกล่าวได้ว่าเป็นครัวของโลกที่อุดมไปด้วยทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชุมชนชายฝั่ง อีกทั้งสัตว์ทะเลหายากที่เติมสีสันให้กับท้องทะเลไทยได้อย่างสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันได้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งมีพันธกิจในการดูแล อนุรักษ์ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสัตว์ทะเลหายาก ได้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ขยะทะเล การทำประมง ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าชายเลน และสถานการณ์ของสัตว์ทะเลหายาก โดยกรมฯ ได้ดำเนินการสานต่อแนวคิดของ รมว.ทส. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคประชาชน โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางสร้างการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเสริมความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ รวมถึงช่วยกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาล เพราะพวกเขาเหล่านี้คือกำลังสำคัญที่คอยดูแล ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจในระบบนิเวศของท้องถิ่น อีกทั้งกำลังพลของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เพียงพอต่อการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้เครือข่ายในพื้นที่คอยสอดส่องดูแลและปกป้องทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลาย และร่วมกันฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ กรมฯ จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และสำคัญที่สุด คือ “ชุมชนชายฝั่ง” นอกจากนี้ กรมฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาในการจัดการและข้อจำกัดต่างๆ จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการ รวมไปถึงการสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและยกระดับศักยภาพของเครือข่ายอีกด้วย
ปัจจุบันกรมฯ ได้ส่งทีมนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านการมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ เพิ่มพูนความแข็งแกร่งให้กับชุมชนชายฝั่ง โดยปัจจุบันกรมฯ ได้มีกลุ่มเครือข่ายชุมชนชายฝั่งที่ขึ้นทะเบียนชุมชนชายฝั่งทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวม 717 ชุมชน 18,505 สมาชิก สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติฯ ครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่าย 6 ภูมินิเวศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่าย 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ในการทำงานร่วมกับกรมฯ ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในแต่ละพื้นที่ ผ่านเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผสมผสานถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และระบบนิเวศ ดังนั้น กรมฯ จึงกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายระดับชาติขึ้น โดยนำเครือข่ายชุมชนชายฝั่งทั่วประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเปิดเวทีเสวนาเสริมทักษะในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งภายในงานได้มีการออกร้านผลิตภัณฑ์จากชุมชนชายฝั่ง พิธีมอบรางวัลชุมชนชายฝั่งปลอดขยะและชุมชนชายฝั่งดีเด่น การเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือด้านการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับกลุ่มภาคีเครือข่าย” และ “การดำเนินงานภายใต้โครงการนำร่องโดยใช้ขาแท่นหลุมผลิตโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียม” ตลอดจนการนำเสนอสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ปัญหาที่สำคัญ และแนวทางแก้ไขปัญหา การนำเสนอผลงานเด่นที่ประจักษ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์การทำงาน การบรรยาย “การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งโดยชุมชน” และการนำเสนอผลการวิเคราะห์ประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการด้านการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น “นายชิดชนก กล่าวทิ้งท้าย”