กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ สนับสนุนให้คนพิการมีงานทำมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดน้อยลง ในทางตรงกันข้ามเรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นจำนวนคนที่อยู่ในวัยแรงงานจะน้อยลง การที่จะส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการที่มีศักยภาพและมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่าคนปกตินั้นเป็นเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ที่ขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งดำเนินการตามมาตรา 33 ให้ครบถ้วน
นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมุ่งส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) ได้เร่งขับเคลื่อนส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ และตระหนักถึงศักยภาพของคนพิการและตำแหน่งงานที่เหมาะสม โดยต้องการส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงแหล่งงานและมีงานทำมากที่สุด มีอาชีพ มีรายได้ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป โดยการจ้างงานของหน่วยงานภาครัฐ และนายจ้างหรือเจ้าของประกอบการ เป็นไปตามกฎหมายจ้างงานคนพิการ มาตรา 33 แต่หากไม่สามารถดำเนินการจ้างงาน ตามมาตรา 33 ได้ สามารถส่งเสริมอาชีพ ตามมาตรา 35 โดยการจัดประโยชน์ให้กับคนพิการแทนได้
ทั้งนี้ จุดหมายในการจ้างงานผู้พิการ ภาครัฐและเอกชนต้องจ้างงานคนพิการ 1 % ในองค์กร ซึ่งปัจจุบันการจ้างงานของภาคเอกชนทั่วประเทศ มีการจ้างงานคนพิการมากกว่า 90% คิดเป็น 66,000 ราย ซึ่งคนพิการที่สามารถทำงานได้มีประมาณ 860,000 ราย ยังขาดการจ้างงานในคนพิการอีกมาก และในส่วนภาครัฐต้องจ้างงานคนพิการถึง 18,000 ราย แต่ตอนนี้มีการจ้างงานแค่ 3,600 ราย ซึ่งยังขาดการจ้างงานในภาครัฐอีกมาก กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) ได้กำหนดตัวชี้วัดการจ้างงานคนพิการเข้าทำงานในภาครัฐไม่น้อยกว่า 60% ในส่วนของภาคเอกชนตั้งเป้าให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีการจ้างงานคนพิการให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการช่วยลดช่องว่างและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนพิการ ให้สามารถพึ่งพา ดูแลตนเอง และครอบครัว ได้เหมือนคนปกติทั่วไป และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข https://www.youtube.com/watch?v=CfoRgD9IWK8
นายกันตพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการเตรียมความพร้อมคนพิการเพื่อรองรับตลาดแรงงาน หรือเข้าสู่ระบบการจ้างงาน การสร้างอาชีพทางเลือกสำหรับคนพิการ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อการต่อยอดอาชีพในการสร้างรายได้เพิ่ม และการสนับสนุนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ โดยให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการสามารถประกอบอาชีพได้