วันนี้ (10 มิถุนายน 2563) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการรณรงค์ผลักดันให้หน่วยงานของรัฐร่วมประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ลงนามในประกาศจังหวัดจันทบุรี เรื่องข้อปฏิบัติในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อให้ส่วนราชการในจังหวัดจันทบุรี ส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพ ส่งเสริมความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
นางสาวอุษณี กล่าวว่า ตามที่ นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ลงนามในประกาศจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ประกาศฉบับดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่ เป็นความทันสมัยและเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก ในอันที่จะเป็นตัวอย่างให้เกิดความเสมอภาคในสังคม รวมถึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่ท่านผู้ว่าฯ กล้าที่จะประกาศให้เกิดเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการประกาศครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวด้านความเสมอภาคขึ้นในสังคม ในนามของ พม. ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในครั้งนี้ และขอเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันสร้างบรรทัดฐาน แนวปฏิบัติ เพื่อปรับเจตคติของคนในสังคมไทยให้เปิดกว้าง ยอมรับและเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียม
นางสาวอุษณี กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พม.พร้อมด้วย 23 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวมจำนวน 24 หน่วยงาน ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558” ประกอบไปด้วย 6 เรื่อง ในการที่จะขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเสมอภาคฯ ได้แก่ 1.การแต่งกาย 2. การจัดพื้นที่ที่เหมาะสม 3.การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน 4.การใช้ถ้อยคำภาษาและกิริยาท่าทาง และเอกสารต่างๆ 5. การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ 6. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน ทั้งนี้ ภายหลังมีการประกาศเจตนารมณ์แล้ว หลายหน่วยงานได้นำเจตนารมณ์ดังกล่าวไปขับเคลื่อน และผลักดันให้เกิดเป็นแนวทางหรือข้อปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
นางสาวอุษณี ยังเปิดเผยด้วยว่า ภายหลังจากการจัดงานดังกล่าว สค. ได้ขยายผลไปยังหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวด้วย โดยขอความร่วมมือไปยังทุกกระทรวง ซึ่งจากการติดตามผล พบว่า นอกจากจังหวัดจันทบุรี แล้วยังมีหน่วยงานภาครัฐอีก 14 หน่วยงาน ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์นี้ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ อีก 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง รวมทั้ง การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และยังมีพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ความสนใจร่วมประกาศเจตนารณ์ด้วย
ทั้งนี้ พบว่า
– มี 6 หน่วยงานที่ประกาศฯ ครบทั้ง 6 ข้อ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และพรรคประชาธิปัตย์
– เจตนารมณ์ข้อที่หน่วยงานประกาศมากที่สุด คือ ข้อ 3 การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน (มี 14 หน่วยงานที่ประกาศข้อนี้ รองลงมา คือ ข้อ 5. การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรง ตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยงาน และข้อ 6. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จำนวน 12 หน่วยงาน)
– เจตนารมณ์ข้อที่หน่วยงานประกาศน้อยที่สุด คือ ข้อ 2 การจัดพื้นที่ที่เหมาะสม
นางสาวอุษณี กล่าวต่อไปว่า สค. ซึ่งเชื่อว่ายังมีอีกหลายหน่วยงานในสังคมที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคแล้วหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงมีหลายหน่วยงานที่ได้นำแนวทางดังกล่าวมาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรมแล้วเช่นกัน นางสาวอุษณี กล่าวในตอนท้าย