วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมรับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 : The 10th World Environmental Education Congress (10th WEEC 2019) ที่เป็นการประชุมระดับนานาชาติระหว่างประเทศที่เน้นการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “Local Knowledge, Communication and Global Connectivity” (ภูมิปัญญาท้องถิ่น, การสื่อสารสิ่งแวดล้อมศึกษา และการเชื่อมโยงไปทั่วโลก) เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการของผู้เข้าร่วมประชุม นักวิชาการจากทั่วโลก และปราชญ์ท้องถิ่น ตลอดจนเยาวชนในประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันผลงาน เรียนรู้จากกันและกัน และร่วมกันกำหนดวิธีการที่จะจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
โดยใช้องค์ความรู้ วิชาการ รวมถึงเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับการพัฒนาด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ในระหว่างวันที่ 3 – 7 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย จัดโดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกชน อาทิ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันโลกร้อนศึกษาโดยมูลนิธินภามิตร สำนักงานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาโลก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
โดยปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ รวมถึงภัยพิบัติธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับโลก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ทุกภาคส่วน ที่ต้องมีจิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์ และอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลาย และในการประชุมครั้งนี้ มุ่งหวังที่จะเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีทางธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการจุดประกายให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อยอดความรู้ในอนาคต
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชนเอง ก็ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ ในสังกัดทุกระดับ รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการรณรงค์เรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ตามแนวทาง 3 Rs คือ Reduce ใช้น้อย Reuse ใช้ซ้ำ และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านกระบวนการประชารัฐ ปลูกฝังให้ทุกคนเริ่มต้นจัดการขยะตั้งแต่ตัวเราเอง เริ่มจากการพกแก้วน้ำส่วนตัว พกถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และ พกกล่องข้าวส่วนตัวแทนการใช้กล่องโฟม นอกจากนี้ได้มีการรณรงค์ให้มีการใช้ซ้ำแทนการทิ้ง การคัดแยกขยะแต่และประเภท และการลดการใช้หลอดพลาสติก เป็นต้น
ในระดับชุมชนได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทั้วประเทศ จัดให้มีการรณรงค์หมู่บ้าน ตำบล หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยยึด “โกงธนูโมเดล” เป็นต้นแบบ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลโกงธนู อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี ถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการขยะที่ประสบผลสำเร็จ เห็นผลเป็นรูปธรรม มีการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีการจัดการคัดแยกขยะ เรียนรู้ร่วมกันในหมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการคัดแยกขยะอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทางมีการทำธนาคารขยะประชารัฐ และนำเงินที่ได้มาจัดตั้งสวัสดิการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” สวัสดิการที่ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของสมาชิกทุกครัวเรือนในชุมชนในยามเสียชีวิต ถ้าเสียชีวิตจะได้ครอบครัวละไม่น้อยกว่า 85,000 บาท ส่วนขยะเปียก มีการทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์จากขยะเพื่อลดต้นทุนด้านการผลิต “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ประจำครัวเรือน ซึ่งเป็นสารบำรุงดินที่หมักในถังขยะเปียกครัวเรือน นำไปใช้ประโยชน์ในแปลงผักตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” รวมถึงมีการทำนวัตกรรมพวงหรีดจักสานลดปริมาณขยะ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากนี้ พช. ยังได้กำหนดเป้าหมายของปีนี้ด้วยว่า ให้พัฒนากรทุกคนเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนช่วยกันปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดูแลรักษาบ้านเรือนให้สะอาด มีการคัดแยกขยะ พร้อมทั้งจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้มีสารบำรุงดิน และปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ที่ปลอดสารพิษ อันเป็นการทำอาหารให้เป็นยาบำรุงร่างกายและลดรายจ่ายที่ง่ายที่สุด รวมทั้งยังได้มีการรณรงค์ให้คนไทย ทุกเพศ ทุกวัย หันมาสวมใส่ผ้าไทยให้มากขึ้น เพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ฝีมือ ภูมิปัญญาของความเป็นไทย และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ชุมชนก็จะมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ด้วย