กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยโครงการThe MICHELIN Guide Thailand ประจำปี พ.ศ. 2560 – 2564 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 เท่า และในปี 2562 สร้างมูลค่าได้ถึง 842.40 ล้านบาท จึงเดินหน้าผนึกกำลัง ร่วมกับ The MICHELIN Guide ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2569 ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย (Gastronomy Tourism) สู่ระดับสากล ตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่สำรวจอย่างน้อย 3 จังหวัด และเพิ่มรางวัล MICHELIN Guide Thailand Service Award presented by TAT ให้แก่บุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. ได้สนับสนุนโครงการ The MICHELIN Guide Thailand ประจำปี พ.ศ. 2560 – 2564 เป็นระยะเวลา 5 ปี และจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์” จำนวน 5 ฉบับ ฉบับแรกชื่อว่า “The MICHELIN Guide Bangkok 2018” และได้ขยายจังหวัดในการสำรวจอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล จังหวัดภูเก็ต พังงา และเชียงใหม่ สำหรับในปีที่ 4 (ปี 2563) มีการเพิ่มรางวัลประเภทใหม่ ได้แก่ MICHELIN Guide Young Chef Award เพื่อมอบให้กับเชฟรุ่นใหม่ที่โดดเด่น, MICHELIN Guide Service Award รางวัลสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม และ MICHELIN Green Star รางวัลที่มอบให้กับร้านอาหารซึ่งใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และฉบับล่าสุดปีที่ 5 ขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในชื่อว่า “The MICHELIN Guide Bangkok, Phra Nakhon Si Ayutthaya, Chiang Mai, Phuket & Phang-Nga 2022”
ทั้งนี้ จากผลการวิจัยโครงการประเมินภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้านอาหาร (Gastronomy Tourism)ของประเทศไทย สำรวจโดยบริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด ของ ททท. และผลการดำเนินโครงการ The MICHELIN Guide Thailand ประจำปี พ.ศ. 2560 – 2563 โดย Ernst & Young สะท้อนให้เห็นว่า โครงการฯ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านอาหารในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยต่อมื้อสูงถึง 2 เท่าและในปี 2562 สร้างมูลค่าได้ถึง 842.40 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 4,800 ตำแหน่ง มีการจัดกิจกรรมทางด้านอาหารในประเทศไทย อาทิ การจัดกิจกรรมดินเนอร์กับเชฟมิชลิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเปรียบเทียบจำนวนร้านอาหารระดับ Street Food ถึง Fine Dining ที่ได้รับรางวัลมิชลิน ในปี 2560 – 2564 พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านอาหารร้อยละ 137 และเกิดการพัฒนาและยกระดับร้านอาหารในประเทศไทย เพื่อรักษามาตรฐานของร้านอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ทั้งดึงดูดเชฟชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเปิดร้านอาหารระดับไฟน์ ไดนิ่ง (Fine Dining) ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นด้วย
จากความสำเร็จดังกล่าว ททท. เล็งเห็นความสำคัญของโครงการ The MICHELIN Guide Thailandในการเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ภายใต้แนวคิด BCG Model มุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมผ่านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ให้เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ นำไปสู่การส่งเสริมการลงทุน ขับเคลื่อนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ ททท. จึงผนึกกำลัง The MICHELIN Guide ขยายความร่วมมือต่อเนื่องไปอีก 5 ปี จากปี พ.ศ. 2565 ถึงปี พ.ศ. 2569 ตั้งเป้าขยายพื้นที่สำรวจเพิ่มอย่างน้อย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด และเพิ่มเติมใหม่อีก 2 จังหวัด ยิ่งไปกว่านั้น The MICHELIN Guide จะเพิ่มเติมรางวัลประเภทใหม่ MICHELIN Guide Thailand Service Award presented by TAT ให้แก่บุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแรงและยั่งยืนในทุกมิติต่อไป
นายมานูเอล มอนตานา ประธานกลุ่มมิชลิน ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย กล่าวว่า ภายใต้การขยายความร่วมมือครั้งนี้ The MICHELIN Guide จะรุกดำเนินการสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
เพื่อค้นหาร้านอาหารและที่พักที่ดีสุด เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีและจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นทั้งในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภายหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง
ทั้งนี้ มิชลิน ไกด์ จะช่วยเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้วยกิจกรรมการตลาด และสื่อสารผ่านสื่อออฟไลน์และออนไลน์ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทาง
ด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารระดับโลก ตลอดจนช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤติโควิด-19
และมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพัฒนาภาคธุรกิจร้านอาหารและการบริการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular and Green Economy : BCG) ที่มุ่งให้เกิดการพัฒนา
ในหลากหลายมิติ เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ต่อประชาชน และยังเกิดผลดีต่อโลกอย่างยั่งยืนด้วย