เมื่อเร็วๆ นี้ การเคหะแห่งชาติร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดประชุมเชิงปฏิบัติการและเผยแพร่การประยุกต์ใช้ภูมิสารสนเทศ ระบบสนับสนุนการกำหนดนโยบาย Actionable Intelligence Policy (AIP) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติได้จัดพิธีลงนาม ความร่วมมือทางวิชาการการส่งเสริมการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติและการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับ 14 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา GISTDA หนึ่งในหน่วยงานที่ลงนามร่วมกัน ได้ให้การสนับสนุนระบบสนับสนุนการกำหนดนโยบาย Actionable Intelligence Policy (AIP) มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติทั้งรูปแบบอาคารแนวราบและอาคารแนวสูง อย่างเช่น การจัดทำโครงการบ้านเคหะสุขประชา (บ้านพร้อมอาชีพ) สามารถนำระบบ AIP เชื่อมโยงกับแปลงที่ดิน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่โดยรอบว่ามีภูมิสังคม และเศรษฐกิจแบบใด เราจะได้ออกแบบโครงการได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ พร้อมทั้งชักชวนภาคเอกชนให้มาร่วมลงทุน (PPP) กับการเคหะแห่งชาติ
“AIP จะช่วยกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่นำใส่เข้าไปในระบบ ทั้งข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศ ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงของปัญหา และสามารถเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายที่มีความถูกต้องทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา นำไปสู่ทางเลือกการตัดสินใจที่ดีที่สุด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ และขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านงานเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ด้านภูมิสารสนเทศที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ” นายทวีพงษ์ กล่าว
นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มุ่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และตอบข้อซักถามปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานด้านที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนาระบบ AIP เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยนำข้อมูลภูมิสารสนเทศที่ GISTDA มีความชำนาญ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่อยู่อาศัยด้านต่าง ๆ ของการเคหะแห่งชาติ อาทิ การจำแนกประเภทชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อหาโซลูชั่นที่เหมาะสมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือการดูแลชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
“ระบบ AIP จะทำให้เราสามารถนำข้อมูลของชุมชนต่าง ๆ ไปลงแผนที่ เพื่อวิเคราะห์เชิงแผนที่และทำให้เห็นความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ทำให้เราสามารถทำอะไรได้มากขึ้น เช่น ถ้าการเคหะแห่งชาติมีแผนจะสร้างชุมชนใหม่ และต้องการรู้ว่าจะเกิดผลกระทบหรือผลดีอย่างไรกับชุมชนเดิม การนำระบบ AIP มาใช้ก็จะช่วยตอบโจทย์เชิงทฤษฎีได้ในเบื้องต้น ซึ่งเราคาดหวังว่าจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความมั่นคงและการสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน” นายตติยะ กล่าว
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการประยุกต์ใช้ภูมิสารสนเทศในการสนับสนุนการกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่มาถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ร่วมงาน ได้แก่ ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บรรยายในหัวข้อ “นวัตกรรม AIP แนวทางการประยุกต์ใช้ด้านที่อยู่อาศัย” โดยมองว่าโจทย์ที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ ของการเคหะแห่งชาติขณะนี้คือ เรื่องภัยพิบัติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม จะทำอย่างไรในการนำเรื่องภัยพิบัติมาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์กับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ซี่งจะทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยสามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และ รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง และหัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมบรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แนวคิดเบื้องต้นในการปรับใช้เทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ” โดยระบุว่า ระบบ AIP มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเมืองอย่างมากในอนาคต สิ่งสำคัญคือ ต้องสามารถฉายให้เห็นภาพรวมของเมือง ความหลากหลายของคนที่อยู่ในเมือง และต้องเข้าใจว่าเมืองจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาอย่างไร เพื่อทำให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการที่อยู่อาศัย สามารถตอบโจทย์ไปตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในเมืองที่เปลี่ยนไปได้
นอกจากการบรรยายให้ความรู้ ในงานยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ “ระบบสนับสนุนการกำหนดนโยบาย AIP เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน” โดย GISTDA ได้แบ่งกลุ่มทำ Workshop ใน 4 หัวข้อ ได้แก่ งานด้านการก่อสร้าง, งานด้านการบริหารทรัพย์สิน, งานด้านการบริหารชุมชน และงานด้านสนับสนุนองค์กร โดยมี ดร.ฐนิตา เสือป่า ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมพันธมิตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สรุปผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
Post Views: 119