นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) กำลังปานกลาง ปริมาณน้ำฝนรวม ปี 2567 ลดลงกว่าปีก่อนร้อยละ 5 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนมีนาคม – เมษายน 2567 สูงกว่าปีก่อน 1- 2 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะเริ่มมีฝนในเดือนเมษายน จากนั้นจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ในเดือนมิถุนายน กรมส่งเสริมการเกษตรมีความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนไม้ผล จึงได้มอบหมายและกำชับการปฏิบัติให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดประเมินพื้นที่เสี่ยงแล้งอย่างต่อเนื่องแล้ว เพื่อจะได้ดำเนินการให้คำแนะนำ และช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนไม้ผล ขอให้ดูแลสวนไม้ผล อาทิ ทุเรียน และมังคุดที่เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อลดความเสียหายจากการขาดน้ำ และสามารถข้ามผ่านหน้าแล้งปีนี้ไปให้ได้ โดยควรปฏิบัติ ดังนี้
- ปรับปรุงบ่อน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ หาน้ำจากแหล่งอื่นมาสำรองไว้ใช้ภายในสวนไม้ผล โดยสวนไม้ผลควรมีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ ร้อยละ 10 ของพื้นที่ปลูก
- ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปรับปรุงระบบการให้น้ำในสวนผลไม้ที่ช่วยเกษตรกรประหยัดน้ำ เช่น ระบบให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยด ให้น้ำแค่ให้ดินพอชุ่มชื้น
- ตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อลดการคายน้ำของต้นไม้ผล
- คลุมโคนต้นใต้ทรงพุ่มจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและลดการระเหยของน้ำจากผิวดินให้ช้าลง
- สวนไม้ผลที่อยู่ใกล้ทะเล จำเป็นต้องกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกเข้ามาในสวน หากมีวัชพืช เช่น ผักตบชวา จอก แหน หรือสาหร่ายอยู่ในท้องร่องสวน ให้นำขึ้นมาคลุมบริเวณโคนต้นไม้ผล
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์รอบทรงพุ่มของต้นไม้ผลแทนการใส่ปุ๋ยเคมี (ถ้าจำเป็น)
- กรณีที่ไม่มีระบบให้น้ำ ควรประสานกับหน่วยงานในพื้นที่นำน้ำมารดต้นไม้ผลอย่างน้อย 7-10 วัน/ครั้ง เพื่อช่วยให้ต้นไม้ผลมีชีวิตรอดข้ามแล้งไปได้
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ขอให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้ในสวนไม้ผล แจ้งต่อสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ชลประทานจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และให้คำแนะนำ ในการดูแลสวน การวางระบบน้ำใช้ภายในสวน ช่วยให้ใช้น้ำลดลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดความสูญเสียได้ในระยะยาว และขอให้เกษตรกรทำการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนดำเนินงานส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งใช้เว็บแอปพลิเคชัน (https://cropsdrought.gistda.or.th) และโมบายแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกับ 6 หน่วยงานภาคีพัฒนาขึ้น ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อบ่งชี้สภาวะความแห้งแล้ง (DRI) และดัชนีความแล้งสะสม (DSI) โดยทำการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชตามสถานการณ์เอลนีโญ (El Nino) ลานีญา (La Nina) และสถานการณ์ปกติ (Neutral)
ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้อบรมอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF) และผู้นำชุมชน จำนวน 450 คน และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 384 คน ในการใช้งานแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ปฏิบัติในระดับพื้นที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง และความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เกษตรกรชาวผู้ปลูกไม้ผล ก็สามารถใช้แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในแปลงเพาะปลูกของตนเองได้ทั่วประเทศ จากเมนูตรวจสอบแปลง ซึ่งแสดงค่าความเสี่ยงภัยแล้ง (รายสัปดาห์และรายเดือน) ค่าความชื้นผิวดิน การพยากรณ์เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้า 4 เดือน และข้อมูลพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน เพื่อเตรียมการป้องกัน บรรเทาผลกระทบ และช่วยลดความเสียหายจากภัยแล้งในสวนไม้ผลของท่าน และกรมส่งเสริมการเกษตรยังมีข้อมูลสารสนเทศอื่น ๆ ที่เกษตรกรสามารถใช้ในหน้าแล้งให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ เช่น https://www.doae.go.th/ข้อมูลสถานการณ์น้ำเค็ม/ ใช้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรแบบรายวันได้ด้วยตนเอง และ https://www.doae.go.th/ข้อมูลแสดงแผนที่จุดควา/ เพื่อติดตามจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร