กรมชลประทาน เปิดเวทีร่วมระดมความคิดเห็นชุมชน และผู้นำท้องถิ่นในลุ่มน้ำวังโตนด จันทบุรี ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี เสียงสะท้อนประชาชนส่วนใหญ่หนุนเดินหน้าโครงการตอบโจทย์แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง เพิ่มน้ำต้นทุนสำรองใช้ตอบสนองทั้งการอุปโภค บริโภคเพื่อความมั่นคงระยะยาว พร้อมดูแลทุกภาคส่วนตามระเบียบของกรมชลฯ เล็งจัดสรรงบฯ ดูแล 455 ครัวเรือน รับเงินชดเชยอย่างเป็นธรรม ร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศป่า สร้างแหล่งน้ำและอาหาร แก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อุทยานฯ เร่งสรุปเสนอ กนช. ครม.เพื่อเดินหน้าก่อสร้างได้ในปี 2566
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.64 กรมฯได้จัดการประชุมในพื้นที่ และผ่านระบบออนไลน์เสนอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) ของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรีซึ่งจากการรับฟังความเห็นของ ชุมชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการดังกล่าวที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 4 ของลุ่มน้ำวังโตนดสามารถเก็บน้ำได้ 99.5 ล้านลูกบาศก์เมตรแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งให้กับชาวบ้านได้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างมั่นคงในระยะยาว “หลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบ EHIA กรมฯได้เปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสรุปและปรับปรุงเพื่อประกอบการพิจารณาของ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไปตามลำดับ โดยตามแผนงานกรอบระยะเวลาของกรมชลประทานจะเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างในปี 2566” นายเฉลิมเกียรติกล่าว
อย่างไรก็ตามจากเวทีรับฟังความเห็นชาวบ้านบางส่วนยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินในเรื่องนี้ กรมฯชี้แจงว่าได้มีการเสนอคณะกรรมการกำหนดราคาค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เตรียมจัดการดูแลค่าชดเชยที่ดินให้กับประชาชน ประมาณ 455 ครัวเรือน และในส่วนของการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเฉพาะช้างป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการพัฒนาแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ ให้กับสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานกลับมามีระบบนิเวศที่ดีและมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น “ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนโดยมีการหารือและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดร่วมกันโดยเฉพาะเรื่องของการประเมินราคาที่ดินเพื่อคำนวณค่าชดเชยที่เน้นความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน และยังได้ประสานไปยัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อดำเนินการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบท ให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อม เยียวยาในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ การส่งเสริมอาชีพ และการส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรี แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกมากในแต่ละปีแต่ยังขาดแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่รองรับสำรองไว้ใช้อย่างมั่นคงยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด ที่มีอ่างเก็บน้ำอยู่เดิมเพียง 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว โดยอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะเป็นแห่งที่ 4 ซึ่งจะช่วยเพิ่มต้นทุนน้ำในพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 308.56 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้สามารถส่งน้ำในระบบชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 267,800 ไร่ โดยอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มีศักยภาพในการส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ถึง 87,700 ไร่ นอกจากนี้กรมชลฯ ยังได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคต ที่ช่วยพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีการผันน้ำไปช่วยเหลือ ในช่วงฤดูน้ำหลาก เข้าอ่างประแสร์ จังหวัดระยอง และอ่างบางพระ จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ และภาคประชาชนในพื้นที่เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและเห็นชอบร่วมกันในปริมาณที่จัดสรรในพื้นที่อื่น ๆโดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เป็นหลัก
นายเดช จินโนรส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตผลไม้ตามฤดูกาลของประเทศ ซึ่งน้ำคือต้นทุนสำคัญของเกษตรกรในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีงานทำตลอดทั้งปี แต่ที่ผ่านมาทุกปีเกษตรกรมักประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง มีน้ำใช้ในภาคเกษตรไม่เพียงพอ ดังนั้นการมีอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆมีผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงโดยเฉพาะการปลูกทุเรียน และสวนยางพารา
นอกจากนี้ การสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบรูณ์ของผืนป่า และเป็นรั้วธรรมชาติในการป้องกันช้างลงมาสู่พื้นที่การเกษตร เพราะที่ผ่านมาช้างที่อาศัยในป่าเสื่อมโทรมได้เข้ามาหากินในพื้นที่ทำการเกษตร เนื่องจากความแห้งแล้ง ทำให้ช้างขาดแหล่งน้ำ จึงขยายอาณาเขตหากิน เพื่ออาศัยแหล่งน้ำที่ชาวบ้านขุดเพื่อการเกษตร และกินพืชผลทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันชุมชน ได้จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนที่เร็วในการดูแล และป้องกันช้างเข้าพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อผลักดันให้ช้างกลับเข้าสู่ผืนป่า ดังนั้นการมีอ่างเก็บน้ำสามารถจำกัดเส้นทางเดินเข้าพื้นที่ทำกินของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กรมชลฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ ร่วมกันจัดทำแนวทางการเข้าไปดูแลช้างในด้านต่างๆ ทั้งการปลูกป่าทดแทน การสร้างแหล่งน้ำและแหล่งสำรองอาหารสำหรับสัตว์ป่า เช่น กล้วย หน่อไม้ รวมถึงการจัดทำโปร่งเทียม และจัดทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น
นายพิรุฬห์ เชื้อแขก คณะกรรมการป่ารอยต่อภาคประชาชน และคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด กล่าวว่า การทำโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ทำให้ผืนป่ากลับมีความชุ่มชื้น และสามารถช่วยเพิ่มแหล่งน้ำใต้ดินในพื้นที่อำเภอหางแมว เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการขุดเจาะบ่อบาดาลลึก 100 เมตร ไม่พบแหล่งน้ำใต้ดินทำให้ต้องไปซื้อน้ำจากที่อื่นมาใช้เพื่อทำเกษตร ส่วนเรื่องของช้างยอมรับว่าเป็นพื้นที่ที่มีช้างป่าอาศัยอยู่กว่า 100-200 ตัว แต่ช้างกับน้ำก็เป็นของคู่กันเวลาเข้าฤดูแล้งแหล่งน้ำในป่าหมดช้างก็จะมาหาแหล่งน้ำในพื้นราบ เมื่อมีอ่างเก็บน้ำช้างก็จะลงมาแค่ชายขอบของแหล่งน้ำ ทำให้ช้างไม่เข้าไปในพื้นที่ของเกษตรกร และมีการเฝ้าระวังได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าหากการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เกิดขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับคนในพื้นที่
สำหรับแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะดำเนินการก่อสร้างได้ภายหลังคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบ โดยคาดว่าในปี 2565 จะเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจในการปักหลักเขต และทำรังวัด พร้อมตรวจสอบทรัพย์สินของพื้นที่ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดได้ในปี 2566-2569 ควบคู่ไปกับการจัดทำระบบกระจายน้ำในปี 2568 -2571 ซึ่งการจัดทำระบบดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการวางระบบการกระจายน้ำไปยังพื้นที่ตำบลต่างๆ ที่อยู่ปลายน้ำ เช่น ตำบลช้างข้าม ตำบลกระแจะ และตำบลท่าใหม่ ให้มีน้ำใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงการทำการเกษตรที่เพียงพอในทุกช่วงฤดูกาลต่อไป