กรมชลประทานจัดสื่อสัญจร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากกระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น คาดสร้างแล้วเสร็จมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 8,450 ไร่ และประชาชน 1,958 ครัวเรือน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหาร จัดกิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อติดตามความคืบหน้า โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากกระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูล รวมถึงได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะศึกษาครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ทั้งกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ที่ประกอบด้วยการศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นทั้งระยะก่อสร้างและระยะการดำเนินการ รวมทั้งการเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การออกแบบการก่อสร้างต่อไป
“ โครงการดังกล่าว พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระชุม ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่าโซน ซี) หน่วยงานของรัฐต้องเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 เมษายน 2554 รวมทั้งการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม การศึกษาจึงมุ่งเน้นให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการยอมรับ” นายเฉลิมเกียรติกล่าว
สำหรับการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ ที่ตั้งหัวงานโครงการ ระดับเก็บกัก รูปแบบเขื่อน และระบบส่งน้ำชลประทานที่เหมาะสม สามารถสรุปลักษณะโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่หัวงานตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านบางเตย ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเภทโครงการ อ่างเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์โดยระบบท่อส่งน้ำและส่งลงลำน้ำเดิม เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุเก็บกักประมาณ 3.82 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงเขื่อนประมาณ 23 เมตร ความยาวเขื่อนประมาณ 160 เมตร พื้นที่เก็บกัก 480 ไร่
เมื่อโครงการพัฒนาเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น จากอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ทั้งหมด 3 หมู่บ้านในตำบลคลองชะอุ่น ได้แก่ บ้านแสนสุข บ้านบางเตย และบ้านทับคริตส์ รวมพื้นที่ 4,300 ไร่ จำนวน 996 ครัวเรือน และจากฝายในลำน้ำอีก 3 แห่ง ได้แก่ ฝายบ้านตาวรรณ์ ฝายบ้านแสนสุข และฝายถ้ำลอด รวมพื้นที่รับประโยชน์4,150 ไร่ และ 962 ครัวเรือน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ตลอดจนยังเป็นการเพิ่มศักยภาพพื้นที่ชุมชนคลองชะอุ่นและตำบลต้นยวน ในการพัฒนาด้านอื่น ๆที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืด และทำประมงพื้นบ้าน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ สู่ท้องถิ่นและจังหวัดสุราษฎ์ธานี
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำใช้เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานานและในฤดูแล้ง และเพื่อบรรเทาความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วม ผู้นำชุมชนตำบลคลองชะอุ่น จึงได้มีหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาแรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
Post Views: 344