ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ สอดคล้องตามคาดการณ์ของตลาดการเงินและนักลงทุน โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤษภาคมนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2549 ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องติดต่อกันในสองการประชุม ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50 Basis Points (BPS) จะถือเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย นโยบายมากที่สุดในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2543 ที่เป็นครั้งสุดท้ายมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 50 bps โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีการปรับตัวสูงขึ้นตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะสั้นอายุ 3 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.85% เป็นการเพิ่มขึ้น 50 bps เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ยิ่งไปกว่านั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาวอายุ 10 ปีได้ปรับตัวทะลุ 3% ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม สะท้อนภาพความคาดหวังถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงิน
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดย ttb analytics ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี 2565 โดยให้ความสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านการบริโภคที่ลดลงจากผลของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านการผลิตจากต้นทุนวัตถุดิบสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน อาจส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศจีน เกิดความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น ทำให้ส่งกระทบต่อเนื่องไปยังระบบซัพพลายเชนภายในประเทศ
ทั้งนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ระดับเดิมตลอดทั้งปี 2565 นี้ จะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ แตกต่างกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ปรับตัวสู่ระดับ 2.25% – 2.50% ณ สิ้นปี 2565 จะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.75 %- 2.00% ซึ่งถือเป็นสถิติอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แตกต่างกันมากสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2550
จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับสูง ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้การลงทุนในตลาดการเงินสหรัฐฯ มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากภูมิภาคเอเชีย โดยเบื้องต้นเดือนเมษายน 2565 มีเงินลงทุนไหลออกจากภูมิภาคเอเชียกว่า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การไหลออกของเม็ดเงินลงทุนจากภูมิภาคเอเชียเข้าสู่สหรัฐฯ ส่งผลกระทบทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าเงินบาทและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับเดือนเมษายนที่ผ่านมา การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลทำให้สกุลเงินหลักในเอเชีย ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยสกุลเงินเยนของญี่ปุ่นทำสถิติอ่อนค่าสูงสุด โดยอ่อนค่าลง 5.5% จากเดือนมีนาคม สำหรับค่าเงินบาทไทย ปรับตัวอ่อนค่าลง 3.0% จากเดือนมีนาคม โดย ณ สิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 33.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ถือเป็นการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบเดือนมากที่สุดตลอดระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561
ttb analytics จึงได้ประเมินค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ โดยประเมินกรอบค่าเงินบาทไว้ที่ 34.20 – 34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ จากความคาดหวังของตลาดต่อการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายน
Post Views: 1,010