ต่อเนื่องกับการอัดแน่นข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่เป็นประโยชน์สำหรับนักธุรกิจนักลงทุนที่ต้องการจะเดินหน้าไปต่อหลังสถานการณ์โควิด-19 กับการสัมมนาแบบนิวนอร์มอลครั้งใหญ่แห่งปีตลอดเดือนกรกฎาคม 2564 โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครั้งนี้กรุงศรีได้เตรียมหัวข้อที่ทุกคนอยากรู้และต้องการคำตอบมากที่สุดอย่าง “วัคซีนความหวังฟื้นเศรษฐกิจไทย” ที่เนื้อหาดีต่อใจคนฟัง ทำให้รู้สึกมีพลังและเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กับการให้ความเห็นเชิงวิเคราะห์เจาะลึก รายงานผลการศึกษา และส่งต่อคำแนะนำให้คำปรึกษาจากขุนพลการเงินระดับแนวหน้าของไทย โดยได้รับเกียรติจากสองผู้เชี่ยวชาญของกรุงศรี และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมให้ทัศนะถึงวัคซีนความหวังที่จะมีส่วนผลักดันการอยู่รอดและเพิ่มอัตราเร่งการเติบโตเศรษฐกิจไทย พร้อมเผยวิธีการจัดสรรเงินทุนพร้อมรับมือปัจจัยต่างๆ และแนวทางเลือกกลุ่มธุรกิจที่ “ฉายแวว” น่าลงทุนให้เจอ
เรากำลังอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิดรอบใหม่และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด นักลงทุนไทยจึงต้องเก็บเกี่ยวข้อมูลรอบด้านให้มากที่สุดเพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนและทำลายกับดักจากสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนทุกวิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้ ซึ่งดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยว่า ถึงแม้เราจะต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไปอีกสักพักใหญ่ แต่ในข่าวร้ายที่ไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ภายในประเทศที่ส่งผลกระทบหนักกับภาคการบริโภคในประเทศ ภาคแรงงานและภาคบริการท่องเที่ยว เรากลับพบข่าวดีจากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน
ด้วยอิทธิพลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง อเมริกาและจีน แม้อาจจะมีสงครามการค้าและ Tech War ของทั้งสองประเทศที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมทั้งไทย บวกกับแนวโน้มที่เฟดยังไม่รีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะคงดอกเบี้ยต่ำไว้อย่างน้อย 2 ปี ค่าเงินบาทอ่อนลงมาที่ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ นั่นก็ทำให้เห็นอัตราการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นและเห็นความต้องการสินค้าส่งออกจากไทย จึงทำให้กลุ่มการส่งออกได้รับอานิสงส์อย่างมาก โดยตัวเลขส่งออกขณะนี้ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิดด้วยซ้ำ และคาดการณ์ว่ามูลค่าการเติบโตการส่งออกทั้งปีจะมากกว่า 10% อีกทั้งยังเห็นกระแสการลงทุนจากต่างประเทศที่ยังคงไหลเข้ามาในไทยอย่างไม่ขาดสาย ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นทิศทางในการลงทุนของโลกกำลังเปลี่ยนไปบนพื้นฐานของ Digital Transformation มากขึ้น เกิดเป็นฐานการผลิตใหม่ที่ใช้ Robot หรือ Automation จึงมั่นใจได้ว่าจะมีการลงทุนใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการหลังสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนั้นทางกรุงศรียังพบว่าสถิติการได้รับวัคซีนที่มากขึ้นและอัตราการป่วยรุนแรงลดลงในต่างประเทศ มีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของประเทศนั้นๆ อย่างเห็นได้ชัด หากไทยเดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ย่อมจะผลักดันให้ประเทศกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว และเปลี่ยนให้โควิด-19 เป็นเพียงโรคประจำถิ่นไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ได้ในที่สุด
ส่วนปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศนั้น ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (GDP) ว่าน่าจะอยู่ที่ 1.5% และมองว่าบทบาทการบริหารเงินของภาครัฐมีส่วนสำคัญที่จะช่วยพยุงการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะการอัดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไทย จากพรบ. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งยังเหลืออีก 3 แสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้ และพรบ. เงินกู้ 5 แสนล้านในปีนี้ ลงไปที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง
และเพื่อให้ไทยเตรียมความพร้อมรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แนะเทรนด์ธุรกิจฉายแววและแนวทางปรับปรุงเพื่อรับมือกับเทรนด์นั้นๆ เริ่มต้นที่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และ Digital Skill เพื่อรองรับเทรนด์ใหม่ให้ตามทันกับ Technology Infrastructure ทั้งยังมีธุรกิจ Go Green ที่จะมีอิทธิพลต่อการค้าในอนาคตอย่าง ธุรกิจกลุ่ม BCG (Bio economy , Circular economy, Green economy) ซึ่งไทยต้องปรับตัวให้สอดรับนโยบายสิ่งแวดล้อม มุ่งเดินหน้าสู่การใช้พลังงานสีเขียวและการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยเฉพาะธุรกิจ Bio economy ที่จะเป็นโอกาสและประโยชน์ต่อภาคเกษตรไทย เช่น การนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ต่อด้วยเทรนด์ห่วงโซ่การผลิตที่กำลังถูกปรับเปลี่ยน ผู้ผลิตไม่ใช้ฐานผลิตแห่งเดียวอีกต่อไป จึงเป็นโอกาสให้ไทยได้รับประโยชน์จากการขยายฐานการผลิตระดับกลางถึงบน
ทั้งนี้ ทางกรุงศรี ยังสนับสนุนกระแส Industry transformation ซึ่งนักธุรกิจไทยจะต้องปรับการลงทุนและวางโครงสร้างองค์กรให้สอดรับกับ Supply-chain Structure ที่จะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามด้วยการมองหา Partnership ระหว่างประเทศที่มีจุดแข็งต่างกัน
สำหรับแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกนั้น คุณวิน พรหมแพทย์, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยว่า การลงทุนในตราสารหนี้ ก็ยังเป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจาก Bond Yield ที่ปรับขึ้นมา ทำให้การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมที่มีการลงทุน 2-5 ปี จะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงหรือสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ทั้งยังมีโอกาสที่ดีในเรื่องความเสี่ยงต่ำ ได้มีโอกาสลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง พิจารณาได้จากนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุนตราสารหนี้แนะนำที่น่าจับตา อย่าง KFSPLUS, KFSMART,และ KFAFIX-A ทั้ง 3 กองทุนบริหารโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญของ บลจ. กรุงศรี โดยแนะนำให้ถือลงทุนมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
นอกจากตราสารหนี้แล้ว คุณวินให้ความเห็นว่า การลงทุนในหุ้นไทยก็ยังน่าสนใจอยู่เหมือนเดิม ถึงแม้จะเติบโตช้ากว่าตลาดหุ้นโลกอยู่กว่า 25% แต่กลับเห็นตัวเลขคาดหมายการเติบโตของกำไร (Earnings Growth) ที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี (Krungsri Securities) ตั้งเป้า SET Index ที่ 1,700 จุดในไตรมาส 3 และมีโอกาสปรับฐานในไตรมาส 4 หากสถานการณ์โควิดมีการเปลี่ยนแปลงจนเกินคาดเดา และสำหรับกองทุนหุ้นไทยที่ควรค่าแก่การลงทุนในปีนี้ ทางกรุงศรีแนะนำ KFTSTAR ที่มีนโยบายลงทุนแบบยืดหยุ่น เน้นหุ้นในธีม Reopening ตามด้วย KFTHAISM ซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็กโตเร็ว แม้จะมีความหวือหวาแต่ก็โดดเด่นมาก และ TSF-A เน้นเลือกหุ้นรายตัวและมีผลการดำเนินงานโดดเด่น ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าธนาคารกรุงศรีมีกองทุนคุณภาพดีจากกว่า 10 บลจ. ที่คัดสรรมาให้นักลงทุนเลือกอย่างเหมาะสม
จากการสัมมนาครั้งนี้ทำให้นักลงทุนไทยยิ้มกว้างเห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจจากปัจจัยบวกทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเปรียบได้กับ “วัคซีนความหวัง” อีกทั้งยังได้รับการชี้ช่องทางลงทุนที่ขานรับกับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดทุน ต้องยอมรับว่าทุกข้อมูลเหล่านี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดีว่าเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วได้อย่างแน่นอน
Post Views: 357