กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เดินหน้าแผนขับเคลื่อนองค์กรด้วยการเป็น AI-First Organization ขยายขีดความสามารถขององค์กรและมุ่งมั่นในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน Machine Learning, AI, Data (M.A.D.) ของประเทศไทย ชูผลงาน KBTG Labs ทีมวิจัย Deep Tech ชั้นนำสร้างนวัตกรรมเพื่อธุรกิจจริง ทั้งเทคโนโลยีการยืนยันตัวตน (AINU) และเทคโนโลยี AI ตรวจจับสภาพรถที่มีความเสียหายจากภาพถ่ายในธุรกิจประกัน (Car AI) รวมทั้งเป็นผู้พัฒนาระบบประมวลผลอัจฉริยะสำหรับธนาคารที่ใช้งานและส่งมอบคุณค่าให้ธุรกิจได้จริง วางเป้าในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปี 2567 เปลี่ยนผ่านสู่การนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้จริงเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่คนหมู่มาก (Human-First) รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ตรงเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย KBTG พันธมิตรและประเทศชาติต่อไป
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า KBTG ขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด AI-First Organization จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน AI ใน 2 ส่วนหลักคือการทำวิจัย (Research) และการนำมาประยุกต์ใช้จริง (Application) เพราะการวิจัยเทคโนโลยี Deep Tech ขั้นสูงจะไร้ความหมาย หากไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่คนหมู่มาก (Human-First) ดังนั้นการทำวิจัยและการนำงานวิจัยชิ้นนั้นมาประยุกต์ใช้จริงให้ได้จึงเป็นเรื่องที่ KBTG ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และผลักดันการเพิ่มศักยภาพทางเทคโนโลยี M.A.D. (Machine Learning, AI, Data) ของธุรกิจและอุตสาหกรรม ด้วยการสร้างผลงานวิจัยเชิงลึก การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการให้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้จริง และการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีเพื่อยกระดับทักษะบุคคลากรในวงการเทคโนโลยีไทยต่อเนื่อง ดังนี้
ผลงานวิจัยด้าน M.A.D. ของ KBTG การันตีคุณภาพในระดับสากล ด้วย KBTG Labs ที่มีทีมนักวิจัยและพัฒนาด้าน AI ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยมีการทำวิจัยเองในด้านต่าง ๆ อาทิ Facial Recognition, Computer Vision, NLP (Natural Language Processing), Deep Learning เพื่อควบคุมคุณภาพและการนำมาใช้กับธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย KBTG และพันธมิตร โดยในปี 2566 KBTG Labs มีผลงานวิจัยทางด้าน M.A.D. ที่ตีพิมพ์ทั่วโลกถึง 6 ฉบับ รวมไปถึงการสนับสนุนงานวิจัยร่วมของนายพัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกไทยคนแรกจาก MIT Media Lab และ KBTG Fellow ในหัวข้อ “Influencing human–AI interaction by priming beliefs about AI can increase perceived trustworthiness, empathy and effectiveness” ซึ่งได้ตีพิมพ์ใน Nature Machine Intelligence วารสารวิชาการระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีการจับมือกันระหว่าง KBTG Labs และ MIT Media Lab หน่วยงานวิจัยระดับโลก ร่วมกันทำงานวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Future You จำลองตัวตนของผู้ใช้งานในอนาคตที่สามารถโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ และ “คู่คิด” คู่หูที่พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางต่างๆ โดยผลลัพธ์ที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบกลับได้ มี AI น้องคะน้าและคชาที่จะตอบคำถามในมุมมองที่แตกต่างกันเพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พัฒนาต่อยอดจากงานวิจัย K-GPT (Knowledge-GPT) ซึ่งเป็นการใช้ความสามารถของ ChatGPT ในการให้ความรู้เชิงลึกเฉพาะด้าน มาพร้อมกับความสามารถในการรองรับภาษาไทย และมีแผนจะนำ “คู่คิด” เปิดตัวสู่ตลาดใช้งานจริงในปี 2567
การต่อยอดจากผลงานวิจัย สู่การประยุกต์ใช้จริง KBTG ได้มีการนำเทคโนโลยีและผลงานวิจัยด้าน M.A.D. มาต่อยอดใช้ประกอบกับผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารกสิกรไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ การตลาด (Marketing Intelligence) สินเชื่อ (Credit Intelligence) การป้องกันการทุจริต (Fraud Intelligence) และการให้บริการ Call Center ซึ่งการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าได้มากกว่า 500 ล้านบาท รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของนักพัฒนา KBTG เช่น การนำ Copilot มาช่วยเพิ่มศักยภาพการเขียนโค้ดของพนักงานขึ้น 2 เท่า การจัดตั้ง M.A.D. Guild ภายในองค์กร เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนความรู้และทำให้ AI เป็นเรื่องใกล้ตัวที่คน KBTG สามารถเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยี AI ที่ผ่านการวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเติบโตให้กับบริษัท โดยให้บริการทางพาณิชย์ผ่าน KX ซึ่งเปิดกว้างสำหรับพันธมิตรทางการเงินและธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สนใจ ได้แก่ เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนและตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของการทำธุรกรรม (AINU) และเทคโนโลยี AI ตรวจจับสภาพรถที่มีความเสียหายและประเมินราคาค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากภาพถ่าย สำหรับใช้งานในธุรกิจประกัน (Car AI) โดย Car AI ได้รับรางวัล Asian Technology Excellence Awards ในสาขา AI – Financial Technology ซึ่งจัดทำโดย Asian Business Review นิตยสารธุรกิจชั้นนำในระดับภูมิภาค
การเผยแพร่ความรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร KBTG มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนขีดความสามารถทางด้าน M.A.D. ให้กับประเทศไทยผ่านหลักสูตร M.A.D. Bootcamp ภายใต้โครงการ KBTG Kampus ClassNest ซึ่งเปิดให้คนสายไอทีที่สนใจพัฒนาทักษะด้าน M.A.D. ได้ลงเรียนและเติบโตแบบก้าวกระโดดไปด้วยกัน พร้อมทั้งสนับสนุนชุมชน AI (AI Community) ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ M.A.D. รวมถึงเผยแพร่ Best Practice และ Lesson Learned จากประสบการณ์ตรงของการทำงานภายใน KBTG ผ่าน KBTG Techtopia และเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
นายเรืองโรจน์ กล่าวตอนท้ายว่า KBTG ตั้งเป้าหมายร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีในปี 2567 ด้วย M.A.D. อย่างต่อเนื่อง โดยเดินหน้าจาก AI-First สู่ Human-First เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีกลุ่มนี้มาประยุกต์ใช้งานได้จริง โดยนอกเหนือจากการทำงานผ่าน KBTG Labs แล้ว KBTG ได้มีการเปิดตัว KXVC กองทุนมูลค่า 3,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนด้าน AI, Web3 และ Deep Tech ซึ่งในปี 2567 ทาง KXVC พร้อมมุ่งหน้าเต็มกำลังสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพและกองทุน AI ทั่วโลก เพื่อเป็นประตูที่จะนำเทคโนโลยี AI ใหม่ๆ และเงินทุนจากต่างประเทศมาสู่ประเทศไทย รวมถึง KBTG เองก็พร้อมจับมือกับพันธมิตรทั้งในประเทศและนอกประเทศพัฒนาขีดความสามารถด้าน M.A.D. และนำผลงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถใช้งานได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยตอกย้ำความมุ่งมั่นของ KBTG ในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน M.A.D. ของประเทศไทย และผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยด้าน Deep Tech มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนในสังคมและประเทศชาติต่อไป