KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “2023: A Year of Turning Points” พร้อมประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2566 ถดถอยไม่รุนแรง จากภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัว วิกฤตพลังงานในยุโรปไม่น่ากังวลตามคาด และปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศของจีน แนะกลยุทธ์ปรับพอร์ตรับจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจโลก ชูสินทรัพย์ทางเลือกลดความผันผวน พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นโลก หุ้นจีนและเอเชีย และกองทุนผสม ชี้โอกาสการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่กลับมาอีกครั้ง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้นจากปัจจัยหนุนในภาคการท่องเที่ยว แต่ภาคการส่งออกยังเผชิญแรงกดดัน
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลาดทุนในปี 2565 พบกับความท้าทายรอบด้าน โดยสินทรัพย์แทบทุกประเภทต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน ในขณะที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อภาคการลงทุนในช่วงต้นปี 2566 เริ่มส่งสัญญาณเป็นบวก ทั้งภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงโดยเฉพาะราคาสินค้า แต่ราคาบริการยังคงทรงตัวในระดับสูง จากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุด และจะคงดอกเบี้ยในระดับสูงจนถึงช่วงปลายปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว (Slow Down) แต่เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่า หนุนจากการเปิดประเทศของจีน
ดร.เชาว์ เก่งชน Executive Chairman บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% เนื่องจากการเปิดประเทศจีนที่เร็วกว่าคาดจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญในภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 25.5 ล้านคน ในขณะที่ภาคการส่งออกจะยังคงเผชิญกับแรงกดดัน แม้จะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศจีนที่ทยอยกลับมาเป็นปกติ จากสาเหตุการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทตลอดทั้งปีนี้ จึงประเมินว่าภาพรวมการส่งออกไทยอาจยังคงเผชิญกับการหดตัวที่ –0.5%
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2566 Lombard Odier ได้ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจากแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัยลบ ก่อนจะเริ่มมีสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้ โดยมี 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นแรก คือ ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยลดลง จากการประเมินของ Lombard Odier คาดว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่มาจากภาคบริการยังไม่คลี่คลาย และค่าจ้างแรงงานยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางตลาดแรงงานที่มีอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราการว่างงานต้องสูงขึ้นกว่านี้ เพื่อดึงให้เงินเฟ้อปรับลดลงอีก นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสแรก และจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้อยู่ระยะหนึ่ง
ประเด็นที่สอง คือ วิกฤตพลังงานในยุโรป ด้วยสภาพอากาศที่ไม่ได้หนาวจัดในยุโรป ความต้องการใช้พลังงานจึงไม่สูงดังคาด ทำให้แนวโน้มที่จะเกิดวิกฤติด้านพลังงานในฤดูหนาวไม่ได้รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ รัฐบาลในยุโรปยังได้ออกนโยบายเพื่อลดภาระของทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยคาดว่าตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะทยอยกลับเข้าสู่จุดสมดุล และได้รับผลกระทบลดลงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
ประเด็นที่สาม คือ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ยอดผู้ป่วยและยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นในจีนภายหลังจากการปรับแผนครั้งใหญ่จากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และเริ่มเปิดประเทศในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้านรัฐบาลมีแนวโน้มผ่อนปรนกฎระเบียบในการกำกับดูแลภาคธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยง (Downside Risks) จากความผันผวนที่เกิดขึ้นหลังจากได้เปิดประเทศอย่างรวดเร็ว
Lombard Odier จึงได้แนะนำ 10 กลยุทธ์การลงทุนในปี 2566 หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด และจากการที่จีนเปิดประเทศ โดยแบ่งเป็นกลยุทธ์ตามจุดเปลี่ยนในตลาดทุนที่ต้องจับตา ดังนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) 10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด
1.อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวลดลงและนโยบายด้านการเงินที่เข้มงวดในประเทศพัฒนาแล้วท่ามกลางเศรษฐกิจซบเซาเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่เอื้อต่อสินทรัพย์เสี่ยง
2.การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังคงต้องทำอย่างระมัดระวังโดยเลือกเฉพาะสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
3.พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงเริ่มมีผลตอบแทนที่น่าสนใจ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด
4.กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ เช่น หุ้นบริษัทที่มีความสามารถในการปกป้องอัตรากำไร (Margin) และได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน
5.กำไรต่อหุ้น (Earnings per share) มีแนวโน้มลดลง จากต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูง และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง
6.ตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับจากอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว หลังจากที่เฟดมีการปรับนโยบาย อย่างไรก็ตามต้องอาศัยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลกด้วย
เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
7.กระจายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก อย่าง Hedge Fund ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลงเนื่องจากความผันผวนและความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังอยู่ในระดับสูง
8.ดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง
9.หุ้นกู้เอกชนผลตอบแทนสูง (High Yield) จะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง หลังจากที่บรรยากาศโดยรวมในการลงทุนดีขึ้น สินทรัพย์เสี่ยงจะกลับมาเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น
เริ่มต้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
10.ทองคำมีความน่าสนใจมากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า และการเปิดประเทศของจีน
นายจิรวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อรับมือกับหลากหลายจุดเปลี่ยนต้องจับตาในปีนี้ ธนาคารแนะนำให้นักลงทุนเข้าลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น Hedge Funds และสินทรัพย์นอกตลาด ควบคู่กับการกลับมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นโลก ในธีม Winner of the New Economy หุ้นจีนและเอเชียในธีม The Rise of China and Asia และกองทุนด้านความยั่งยืน รวมทั้งกองทุนผสมอย่าง K–ALLROAD Series* เพื่อช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ต สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกรับชมงานสัมมนา “เจาะทิศทางลงทุนท่ามกลางจุดเปลี่ยนของโลก (2023: A Year of Turning Points)” ได้ที่ KBank Private Banking YouTube Channel https://www.youtube.com/c/KBankPrivateBanking
Post Views: 176