นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน 2562) ว่า EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 109,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,927 ล้านบาท หรือ 14.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 35,378 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 74,366 ล้านบาท จากจำนวนนี้มีสินเชื่อคงค้าง SMEs เท่ากับ 35,969 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 547 ล้านบาท ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 140,519 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 79,248 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 56.40%
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ขณะที่มูลค่าสินเชื่อของ EXIM BANK เติบโตขึ้น ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 4.96% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 5,440 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 10,539 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,611 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 7,292 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 144.53% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
ในการทำหน้าที่คุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจส่งออกและโครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ EXIM BANK ได้ขยายบริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจในตลาดเดิมและตลาดใหม่ได้อย่างมั่นใจ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 96,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,980 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 16,420 ล้านบาท หรือ 16.97%
ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 83,432 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 42,766 ล้านบาท จากจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างให้แก่โครงการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จำนวน 30,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,370 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของ CLMV ซึ่งยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักในการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย โดยปัจจุบัน EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญ และอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนามต่อไป
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน ในปี 2562 EXIM BANK ได้ทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างเครือข่ายธุรกิจ โดยเฉพาะในตลาดใหม่ (New Frontiers) และเติมเต็มช่องว่างองค์ความรู้ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 EXIM BANK ได้จัดอบรมเพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจได้ ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 3,000 ราย เพื่อสร้างผู้ประกอบการไทยที่แข็งแกร่งและแข่งขันได้ ช่วยให้สินค้าและบริการของไทยขยายส่วนแบ่งตลาดการค้าในโลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
Post Views: 525