ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงแนวนโยบายและบทบาทของ EXIM BANK ภายหลังเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ หลังจากในปีที่ผ่านมาหดตัวสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะที่ความต้องการซื้อสินค้าภายในประเทศยังเปราะบางและการท่องเที่ยวยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน การฟื้นตัวของภาคการส่งออกจึงเป็นความหวังในระยะสั้น แต่การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวยังติดขัดปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ ทำให้ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา GDP ไทยโตเฉลี่ยเพียง 2% เทียบกับ GDP โลกที่โต 3% และประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามโตถึง 6% สอดคล้องกับการส่งออกของไทยโตเฉลี่ยเพียง 2% น้อยกว่าเฉลี่ยของโลกที่ 3% และการส่งออกเวียดนามที่โตถึง 15%
ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเผชิญปัญหา “ความย้อนแย้ง” ในเชิงโครงสร้างของผู้ประกอบการ แม้มีจำนวน SMEs มากถึง 3.1 ล้านราย คิดเป็น 99.5% ของทั้งระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีเพียง 1.5 หมื่นรายหรือ 0.5% ของทั้งระบบ แต่กลับมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูงเกือบ 60% ของ GDP รวม อีกทั้งเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ย GDP ต่อกิจการ พบว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจสูงกว่า SMEs ถึง 350 เท่า ยิ่งตอกย้ำว่าแม้ SMEs มีจำนวนมาก แต่ยังสร้างแรงส่งต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ควร นอกจากนี้ SMEs ส่วนใหญ่ยังค้าขายอยู่ในประเทศ มีไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งหมดที่สามารถเป็นผู้ส่งออกได้และสัดส่วนนี้แทบไม่ขยับเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ SMEs ส่วนใหญ่เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงและข้อจำกัดต่าง ๆ ภายในประเทศ ลดทอนโอกาสการเติบโตและการเป็นเครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า เศรษฐกิจและการส่งออกของไทยเปรียบเสมือนรถยนต์ที่กำลัง “ติดหล่ม” และต้องการการผลักดันให้เคลื่อนไปข้างหน้าในหลายมิติ ได้แก่ 1. การลงทุน สัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนต่อ GDP ในปี 2563 อยู่ที่ 16.6% ลดลงจาก 18.7% ในปี 2553 2. การพัฒนานวัตกรรม สัดส่วนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อ GDP ในปี 2561 ของไทยอยู่ที่ 1% เทียบกับเกาหลีใต้และไต้หวันซึ่งอยู่ที่ 4.5% และ 3.4% ตามลำดับ ทำให้การส่งออกของไทยยังเน้นสร้างมูลค่าผ่านปริมาณมากกว่าราคา 3. การเชื่อมโยง Supply Chain ของโลกยุคใหม่ ตามกระแส Megatrend 4. การสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เพื่อให้เป็นนักรบเศรษฐกิจที่จิ๋วแต่แจ๋ว มีภูมิคุ้มกันในยามวิกฤตและแรงส่งใหม่ช่วยผลักดันประเทศให้เติบโต นอกจากนี้ เศรษฐกิจและการส่งออกของไทยยังถูกกดดันจากกระแส Disruption ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การเกิดโควิด-19 สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขหรือพัฒนาก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดอยู่กับที่หรือกลายเป็นรถยนต์ที่วิ่งได้ช้า
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ EXIM BANK ต้องทำหน้าที่ “เครื่องยนต์รุ่นใหม่” ผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจากภาวะติดหล่มข้างต้น โดยใช้นโยบาย Dual-track Policy ชูบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs)”
ภารกิจหลักของ EXIM BANK ในปี 2564 ได้แก่ การเร่ง “ซ่อม สร้าง เสริม” การพัฒนาประเทศไทย
1. การเร่ง “ซ่อม” และ “สร้าง” ภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เติบโตไปสู่อนาคต
• ประคับประคองผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต
• สร้างอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (เช่น เทคโนโลยีด้านสุขภาพ รถยนต์ไฟฟ้า) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมขนานใหญ่
2. การเร่ง “สร้าง” ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายกลางและรายใหญ่ ทำให้ Supply Chain ภาคส่งออกไทยแข็งแกร่งและเชื่อมโยงกับการลงทุนภายในประเทศและระหว่างประเทศ
• เป็นสะพานเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน
• เติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะการแชร์ความเสี่ยงในช่วงเริ่มต้นของโครงการ
• สร้างผู้ส่งออก SMEs รายใหม่ให้ส่งออกได้และแข็งแรงขึ้น เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าในระยะถัดไป
• สนับสนุนซัพพลายเออร์และผู้ประกอบการทั้งหมดใน Supply Chain การส่งออก
• สร้างช่องทางในลักษณะ Thai Pavilion นำสินค้าไทยสู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของโลก
3. การเร่ง “เสริม” ศักยภาพการแข่งขันของผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในตลาดหลักและตลาดใหม่ (New Frontiers) อย่างสมดุล
• สนับสนุนให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ โดยเฉพาะประเทศที่ธุรกิจไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของโครงการลงทุน
• ป้องกันความเสี่ยง พร้อมเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทย
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK วันนี้ต้องมีจุดยืนที่มีเสน่ห์ เพื่อทำให้องค์กรโตขึ้น ชัดเจนขึ้น และช่วยพัฒนาประเทศได้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการช่วยให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปรับงานในต่างประเทศได้มากขึ้น ควบคู่กับการขยายโครงการลงทุนภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ควบคู่กับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ โดยสร้างนวัตกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน EXIM BANK จะเข้าไปดูแลผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถค้าขายหรือลงทุนระหว่างประเทศได้โดยสะดวกขึ้น สามารถบริหารความเสี่ยงและเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ นำไปสู่การพัฒนาภาคส่งออกและการลงทุนของไทยตลอดทั้ง Supply Chain ของไทยให้เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลกในยุค New Normal ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนหลักการแห่งความยั่งยืน
“ผมตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่นายธนาคารยุคใหม่เพื่อการพัฒนา เดินหน้าปรับเปลี่ยน EXIM BANK ขนานใหญ่ให้สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น และเป็นกลไกให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ปรับตัว เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ได้ เส้นทางใหม่ของ EXIM BANK ครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะ ‘ฝันให้ใหญ่’ สู่การเป็น Thailand Development Bank แล้ว ‘ไปให้ไกล’ สู่ New Frontiers โดย ‘ไม่ทิ้งคนตัวเล็ก’ หรือ SMEs เพราะทุกภาคส่วนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว
Post Views: 400