ภาพรวมภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย

  • นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเร่งตัวจากอุปสงค์คงค้างของการท่องเที่ยว (Pent-up demand) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังไทยมีโอกาสเพิ่มสูงกว่าที่คาดไว้จาก 7.4 ล้านคน เป็นอาจแตะ 10 ล้านคน ซึ่งหลังไทยประกาศเปิดประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ดีจากสถานการณ์โควิดโลกที่เริ่มดีขึ้นจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น จึงทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยทยอยผ่อนคลายมาตรการ
    การเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี
  • นักท่องเที่ยวชาวไทยมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง โดยหลังผ่อนคลายมาตรการในช่วงกันยายน 2564 นักท่องเที่ยวไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดส่วนหนึ่งมาจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนกระตุ้นทำให้เกิดความมั่นใจในการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น หลังการเปิดประเทศของไทยและการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศทั่วโลก ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเริ่มออกไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในอาเซียนและเอเชีย
  • อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากค่าใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าน้ำมันและกำลังซื้อที่ลดลง

การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมในปี 2565 มีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวได้มากขึ้นแต่ยังต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก

  • จำนวนผู้เข้าพักและอัตราการเข้าพักมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น จาก 1.นักท่องเที่ยวไทยที่มีความมั่นใจในการเดินทางมากขึ้น แต่กำลังซื้อที่ลดลงกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเลือกเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดเมืองรองเพื่อลดค่าใช้จ่าย และ 2.นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเร่งตัวจาก Pent-up demand ของการท่องเที่ยวแต่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวให้กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก อย่างจีนยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้
  • ราคาที่พักเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการแข่งขัน
    โดยการจัดโปรโมชันและการกำหนดราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
  • อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วแต่ยังต้องเผชิญความ
    ท้าทาย
    จาก 1.ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นและปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคบริการ 2.นักท่องเที่ยวไทยที่มีกำลังซื้อบางส่วนเริ่มเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น 3.การแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจโรงแรมจากการลดราคาห้องพักของโรงแรมในระดับ 4-5 ดาว รวมถึงการแข่งขันจากโรงแรมที่เคยปิดบริการชั่วคราวที่เริ่มกลับมาให้บริการมากขึ้น

ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจสายการบินสัญชาติไทยในปี 2565 มีแนวโน้มเริ่มทยอยฟื้นตัวจากที่หดตัวรุนแรงในปี 2563-2564 จากวิกฤต COVID-19 และมีมูลค่าราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท (คิดเป็น 40% ของรายได้ปี 2562)

  • รายได้ขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางระหว่างประเทศที่เร่งตัวขึ้นและมีมูลค่าราว 5-6 หมื่นล้านบาท จาก Pent-up demand ของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีการเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่เที่ยวบินอย่างต่อเนื่องในหลายเส้นทางโดยเฉพาะในฝั่งอาเซียนและเอเชีย อีกทั้ง สล็อตตารางบินในหลายสนามบินของไทยในช่วงฤดูหนาวปี 2565 ได้ถูกจองล่วงหน้าจนค่อนข้างเต็มแล้ว นอกจากนี้ จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ EIC ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า นักท่องเที่ยวไทย 65% วางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อย 1 ครั้ง
  • รายได้ขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางในประเทศและอื่น ๆ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและมีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้น และการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะช่วยเพิ่มการเดินทางในประเทศ
  • รายได้ขนส่งสินค้าที่เติบโตต่อเนื่องจนมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท โดยหลายสายการบินได้ปรับตัวมาให้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้ง อัตราค่าบริการขนส่งทางอากาศยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562
  • อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินยังเผชิญความท้าทายหลายประการที่จะสร้างความเสี่ยงต่อภาวะทางการเงินที่ค่อนข้างเปราะบาง ได้แก่ 1.ภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เร่งตัวขึ้นจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 2.การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน 3.การฟื้นตัวของขีดความสามารถในการดำเนินการด้านการบิน 4.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ 5.การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสายการบิน

ปุญญภพ ตันติปิฎ

ปุญญภพ ตันติปิฎก, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ในระยะข้างหน้า EIC ประเมินว่านักท่องเที่ยวชาวไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้ม
ฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าก่อนโควิดได้ในช่วงปลายปี 2567 และ 2568 เป็นต้นไป ตามลำดับ

  • นักท่องเที่ยวชาวไทยคาดว่าจะฟื้นตัวกลับไปที่ก่อนโควิดได้ในช่วงปี 2566 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2567 โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีกำลังซื้อบางส่วนจะออกเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวได้ดีจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของไทยอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะกลับมาเดินทางระหว่างประเทศได้ในช่วงปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และทำให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินของไทยเริ่มฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าก่อน COVID-19 ตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวยังมีความท้าทายอีก 4 ประเด็นที่ต้องเผชิญในอนาคต

  • โครงสร้างนักท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งสัญชาติและ Generations ซึ่งส่งผลต่อความต้องการบริการในอนาคต
  • การเดินทางเพื่อทำธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้วิถีการทำงานและการทำธุรกิจเปลี่ยนไปสู่การประชุมทางออนไลน์มากขึ้น 
  • การเข้าสู่ Net zero emission 2593 ซึ่งทำให้ธุรกิจโรงแรมและการบินต้องรีบปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
  • Digital transformation ในภาคการท่องเที่ยว เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทมากขึ้นเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

ทั้งนี้ EIC มองว่าธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ดังต่อไปนี้

  • กลยุทธ์หลักของธุรกิจโรงแรม 3 ประการ ได้แก่ 1.การกระจายความเสี่ยงและการหาช่องทางเพิ่มรายได้ในระยะยาว โดยลดการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วพิจารณานักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เพิ่มเติม รวมถึงจากการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่และปรับเปลี่ยนบริการที่เป็นรายได้เสริมให้เป็นธุรกิจหลัก เช่น การจัดงานตามเทศกาลและงานที่ร่วมมือกับท้องถิ่น การบริการอาหารและเครื่องดื่ม  2.การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว โดยการยกระดับการบริการที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มวัย เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 3.การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสและมูลค่าทางธุรกิจ เช่น การร่วมมือกับธุรกิจด้านสุขภาพเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และการร่วมมือกับผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น

3 กลยุทธ์สำคัญของธุรกิจการบิน ได้แก่ 1.การปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิกฤต COVID-19 และจากกลุ่มผู้เดินทางใหม่ เช่น การพัฒนาระบบการเดินทางแบบไร้สัมผัส การปรับรูปแบบบริการและโครงสร้างราคาให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้โดยสารในปัจจุบัน และการเสนอ Personalized experience ในการเดินทาง
2.การมุ่งเน้นพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินการและลดต้นทุน เช่น การบริหารจัดการปริมาณเที่ยวบิน ฝูงบิน และเส้นทางบินให้เหมาะสมกับสภาพตลาด การเร่งจองสล็อตการบินใหม่ที่ว่างจากช่วง COVID-19 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินการและพยากรณ์อนาคต และการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้นและบินได้ระยะทางไกลขึ้น
3.เทรนด์ 
De-carbonisation และการสร้างความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของอุตสาหกรรมในการเป็น Net zero emission ภายในปี 2593 และตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้โดยสารในปัจจุบันที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/tourism-050822

ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์

ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม, นักวิเคราะห์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ปุญญภพ ตันติปิฎก, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

EIC Online: www.scbeic.com  Line : @scbeic