ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) นำคณะกรรมการและผู้บริหารธนาคาร ลงพื้นที่ภาคใต้ สร้างสังคมการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมดึงเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมฝึกทักษะโค้ดดิ้ง เสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี คัดเลือกนักเรียนและจิตอาสา รวม 262 คน จุดประกายความฝันสู่การต่อ ยอดการศึกษาทันยุคดิจิทัลในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้อย่างยั่งยืนโอกาสครบรอบ 20 ปี ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 ประธานกรรมการธนาคาร ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการ “เสริมทักษะเขียนโค้ด นักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ทันยุคดิจิทัล” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชครินทร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ดร.จงรัก พลาศัย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารมี นโยบายดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR-in-process) ซึ่งบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการบริหารจัดการองค์กร และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนอกกระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR-after-process) โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ ตระหนักถึงการกำหนดกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนความสามารถหรือยกระดับความสามารถขององค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จึงมีแนวคิดในการเฉลิมฉลองด้วยการจัดทำโครงการเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของธนาคารพร้อมจะก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 อย่างยั่งยืน โดยในปีนี้ธนาคารได้ริเริ่มโครงการ “เสริมทักษะเขียนโค้ด นักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ทันยุคดิจิทัล” เพื่อมอบโอกาสให้กับเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้พัฒนาทักษะในด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฝึกฝน และมีความพร้อมในการเติบโตในยุคดิจิทัล ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้แข็งแกร่ง ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีศักยภาพอย่างทั่วถึงแท้จริง ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยี แทบจะทุกย่างก้าวในชีวิตประจำวัน จะเห็นว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท จนเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการนักเทคโนโลยีต่างๆมากมาย ดังนั้นโครงการนี้ เราหวังว่าจะเป็นการสร้างพื้นฐานให้เด็กๆ คุ้นเคย สนุก ตลอดจนเข้าใจ และสามารถนำความรู้และทักษะการเขียนโค้ดดิ้งที่ได้จากโครงการนี้ไปสร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดการศึกษาในอนาคตต่อไป
กิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่จัดส่งนักศึกษาจิตอาสามาเป็นเทรนเนอร์สำหรับโครงการ “เสริมทักษะเขียนโค้ด นักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ทันยุคดิจิทัล” ให้กับน้อง ๆ ทั้ง 6 โรงเรียน แบ่งเป็น 3 โรงเรียนในจังหวัดนราธิวาส (โรงเรียนดารุสสาลาม โรงเรียนนราธิวาส และโรงเรียนนราสิกขาลัย) 2 โรงเรียนในจังหวัดปัตตานี (โรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา และโรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา) และ 1 โรงเรียนจากจังหวัดยะลา (โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ) ขอบคุณคณาจารย์ ครู ทั้ง 6 โรงเรียนที่ให้การสนับสนุนจัดเวลาและสถานที่ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทั้ง 250 คนและจิตอาสา 12 คน รวม 262 คน ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอร์รี่ หาดใหญ่ ที่ได้อนุเคราะห์สถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมปิดโครงการในอีก 3 เดือนข้างหน้า และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของเรา
ด้าน นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ไอแบงก์ กล่าวต่อว่า โครงการ “เสริมทักษะเขียนโค้ด นักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ทันยุคดิจิทัล” ได้ถูกริเริ่มจากเจ้าของโครงการ STEPS ซึ่งย่อมาจาก Southern Technology Education Program for Student โดยนางสาวพาริมา ชูพึ่งอาตม์ ซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมปีที่ 5 ปัจจุบันศึกษาอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งโครงการนี้ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับ Computer Science ในยุคปัจจุบัน และมีแนวคิดที่จะหยิบยื่นโอกาสให้แก่น้องๆในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชน พัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มรายได้เฉลี่ยในพื้นที่ต่อไป แบบอย่างที่ดีเช่นนี้ ไอแบงก์ พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไอแบงก์จึงจัดทำโครงการ “เสริมทักษะเขียนโค้ด นักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ทันยุคดิจิทัล” โดยมีเป้าหมายเสริมสร้างให้เยาวชนในพื้นที่ นอกจากจะมีทักษะด้านการโค้ดดิ้งแล้ว ยังสามารถพัฒนาความคิดของน้องๆ อย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อยอดการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมต่างๆ ให้กับประเทศชาติได้ในอนาคตต่อไป