ธนาคารไทยพาณิชย์ ตอกย้ำบทบาทการเป็นสถาบันการเงินที่อยู่เคียงข้างช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยในทุกวิกฤตเสมอมา อัดฉีดสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ตามมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ด้วยความรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง กำหนดแผนปฏิบัติงานเชิงรุกช่วยให้ลูกค้าได้รับอนุมัติซอฟต์โลนอย่างว่องไวยิ่งขึ้น เสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ทันการณ์ ตั้งเป้าหมายอัดฉีดซอฟต์โลนร่วมพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จำนวน 20,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีในปัจจุบันและลูกค้ารายใหม่ รวมกว่า 8,500 ราย พร้อมเพิ่มทางเลือกให้เอสเอ็มอีในการจัดการธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันในที่สุด
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความบอบช้ำให้กับเศรษฐกิจอย่างที่ประเมินค่ามิได้ ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการแพร่บาดระลอกที่ 3 ที่ขยายวงกว้างอย่างรุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารไทยพาณิชย์ ตระหนักดีว่าภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ สภาพคล่องและเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงพร้อมดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธนาคารไทยพาณิชย์สามารถเริ่มต้นปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนภายใต้โครงการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากธนาคารได้ปรับกระบวนการทำงานในเชิงรุกยิ่งขึ้น โดยทำการประเมินธุรกิจของลูกค้าทุกรายและเป็นฝ่ายเข้าถึงตัวลูกค้าเพื่อเสนอแนวทางช่วยเหลือ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำซอฟต์โลนที่ได้รับไปใช้เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งนี้ หลังจากที่ธนาคารได้เริ่มเปิดให้สินเชื่อซอฟต์โลนในรอบนี้นับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ไปแล้วกว่า 4,700 ราย วงเงินสินเชื่อกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดกว้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารปัจจุบัน และลูกค้ารายใหม่อย่างทั่วถึง โดยมุ่งเน้นให้สินเชื่อกับทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มากน้อยขึ้นกับประเภทธุรกิจ ธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จำนวน 20,000 ล้านบาท รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อร่วมกันประคับประคองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสงค์ขอซอฟต์โลนตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ จะต้องไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยกำหนดคุณสมบัติของลูกค้าแต่ละกลุ่มดังนี้ สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีปัจจุบัน ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอซอฟต์โลนได้สูงสุด 30% ของวงเงินสินเชื่อเดิม สูงสุด 150 ล้านบาท สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารทุกแห่ง สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท โดยนับรวมทุกวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน ทั้งนี้ลูกค้าทั้งสองกลุ่มจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา พร้อมได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของสัญญา กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระยาวถึง 10 ปี และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขอสินเชื่อ Front End Fee นอกจากนี้ สินเชื่อภายใต้โครงการได้รับการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) เป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมทั้งลดภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเหลือเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวตลอดอายุสัญญาเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่สามารถขอเข้าร่วมมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ที่สาขาธนาคารไทยพาณิชย์ทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Business Call Center โทร.02 722 2222