กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค จากทั้งการลดดอกเบี้ยของ Fed ราคาทองคำที่สูงขึ้น และเงินทุนไหลเข้าไทย ซึ่งทำให้ดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วตามไปด้วย ทั้งนี้ พบว่า ธปท. เข้าดูแลเงินบาทหลังภาวะการเงินตึงตัวขึ้นเร็ว ในระยะต่อไป มองว่าเงินบาทจะยังผันผวนสูง โดยต้องจับตาการลดดอกเบี้ยของ Fed สงครามในตะวันออกกลาง และการสื่อสารของ กนง. ซึ่งอาจทำให้บาทมี Correction ในระยะสั้น จึงมองเงินบาทโดยเฉลี่ยอาจอยู่ในกรอบราว 32.45-32.95 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินบาทในไตรมาสที่ 4 คือ การเลือกตั้งสหรัฐฯ และแนวโน้มเงินหยวน โดยหาก Harris ชนะการเลือกตั้ง อาจทำเกิดการ Unwind Trump trade อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจลดลง เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่า ทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่วนการแข็งค่าของเงินหยวนในระยะต่อไปน่าจะมีจำกัด ทำให้แรงกดดันด้านแข็งค่าต่อเงินบาทอาจมีน้อยลง คาดกรอบเงินบาท 32.00-32.50 ปลายปีนี้
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นถึงเกือบ 5% ซึ่งแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยเป็นผลจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนกันยายน โดยตลาดมองว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการลดเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะไม่เกิดภาวะถดถอย (Insurance cut) จึงทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดปรับดีขึ้น (Risk-on sentiment) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ลดลง เงินดอลลาร์อ่อนค่า และสกุลเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ราคาทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า โดยราคาทองคำปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากทั้งอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่ลดลง อุปสงค์ต่อทองคำจากทั้ง ETF, Hedge fund, และธนาคารกลางที่สูงขึ้น ซึ่งราคาทองคำมีความสัมพันธ์กับเงินบาทสูง จึงทำให้บาทแข็งค่าเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค
ยังมีปัจจัยที่ตลาดไม่ได้คาดคิด ซึ่งเป็นแรงกดดันด้านแข็งค่าต่อสกุลเงินภูมิภาค และทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าที่คาดไว้ คือการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการเลือกหัวหน้าพรรค Liberal Democratic Party (LDP) ของญี่ปุ่น โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) และกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo) ได้แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย (Reverse repo และ 1-year MLF) เพิ่มสภาพคล่องเข้าตลาดหุ้น (อย่างน้อย 5 แสนล้าน) อัดฉีดเงินให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกระตุ้นการบริโภคเอกชนผ่านการปล่อยกู้ ส่งผลให้เงินหยวนกลับมาแข็งค่าเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมาพร้อมดัชนีตลาดหุ้นจีนที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเชื่อมั่นที่สูงนี้ทำให้เกิด Risk-on ในตลาดเอเชีย และดันให้เงินบาทแข็งค่าตามเงินหยวน นอกจากนี้ การเลือกหัวหน้าพรรค LDP ของญี่ปุ่นก็ออกมาเหนือความคาดหมาย โดยนายชิเงรุ อิชิบะ ที่ได้รับเลือก มีนโยบายสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น จึงทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเร็ว กดดันให้เงินบาทแข็งค่าตาม
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ในระยะสั้นนี้เงินบาทจะยังผันผวนสูง โดยมีปัจจัยจากทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed สงครามในตะวันออกกลาง รวมถึงโอกาสการลดดอกเบี้ยของ กนง. โดยขณะนี้ตลาดมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอีกราว 70 bps ใน 2 การประชุมที่เหลือของปีนี้ ซึ่งหาก Fed ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาด ก็อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ปรับสูงขึ้น กดดันให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่า และบาทกลับมาอ่อนค่าได้ โดยสิ่งที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งหากอัตราว่างงานยังออกมาที่ 4.2% หรือต่ำกว่า ก็อาจทำให้ Yields สูงขึ้น ดอลลาร์แข็งค่า และบาทอ่อนได้ นอกจากนี้ หากสงครามในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจมาจากการตอบโต้ของอิหร่าน หรืออิสราเอลเพิ่มความรุนแรงในการโจมตีเลบานอน ก็อาจทำให้เกิดภาวะ Risk-off และนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินภูมิภาค ทำให้เงินบาทอ่อน ทั้งนี้ ในกรณีนี้มองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลอื่นในภูมิภาคได้ เพราะราคาทองคำที่อาจปรับสูงขึ้นตามไปด้วยจะช่วยพยุงให้เงินบาทไม่อ่อนค่ามาก สำหรับปัจจัยสุดท้ายที่จะส่งผลต่อความผันผวนเงินบาทในระยะสั้นคือ โอกาสในการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่ง ณ ขณะนี้ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปี แต่หาก กนง. ยังสื่อสารไปในทางที่อาจจะไม่ลดดอกเบี้ย (Hawkish) ก็อาจเป็นแรงกดดันด้านแข็งค่าต่อเงินบาทเพิ่มเติมได้ คาดว่าในระยะสั้น เงินบาทโดยเฉลี่ยอาจอยู่ในกรอบราว 32.45-32.95 โดยหากเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับราว 32.65-32.95 จะเป็นจังหวะให้ผู้ส่งออกพิจารณาขายเงินดอลลาร์ออกได้ และหากเงินบาทแข็งค่าไปที่ระดับราว 32.20-32.50 จะเป็นจังหวะให้ผู้นำเข้าพิจารณาซื้อเงินดอลลาร์เพิ่มได้
สำหรับในระยะกลางถึงยาว นายวชิรวัฒน์ยังมองว่า เงินบาทอาจยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นได้อีกเล็กน้อย โดยมองกรอบปลายปีที่ราว 32.00-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed จะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ โดยจากการศึกษาวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ Fed พบว่า 3 ใน 4 ครั้งล่าสุด เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลง ราคาทองคำปรับสูงขึ้น และเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นภายใน 1 เดือนหลัง Fed ลดดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งคาดว่าวัฏจักรการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ก็จะทำให้เกิดภาวะ Risk-on และทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EMs) รวมถึงไทย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าต่อได้ โดยในเดือนกันยายนพบว่ามีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย 2.9 หมื่นล้านบาท และไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาล 1 หมื่นล้านบาท ทำให้รวมทั้งปี มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย 9.5 หมื่นล้านบาท และไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาล 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นโมเมนตัมที่ดีขึ้นจากปีก่อนที่เงินไหลออกรวมกันถึง 3.4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง กดดันให้บาทแข็งค่าต่อได้เช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าหากนางกมลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง อาจทำเกิดการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ของนักลงทุน (Unwind Trump trade) และความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนำเข้าที่ลดลง จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงด้วย สำหรับนัยต่อตลาดบอนด์ ประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) อาจลดลงได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและภาษีผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น ส่วนเศรษฐกิจระยะยาวอาจโตน้อยลงตามค่าจ้างและการจ้างงาน และความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อจากภาษีนำเข้าอาจน้อยลง จึงทำให้ Yields ระยะยาว มีแนวโน้มลดลงได้มากกว่า Yields ระยะสั้น ดังนั้น Yield จึงอาจลดลงแบบ Bull flatten อย่างไรก็ดี หาก Trump ชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าเร็วจากการขึ้นภาษีนำเข้า และ Treasury yields อาจปรับสูงและชันขึ้น จากความกังวลด้านฐานะการคลังที่รายได้การจัดเก็บภาษีมีแนวโน้มลดลง ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นอาจทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น กดดันให้ Yields ระยะยาวสูงขึ้นมากกว่า Yields ระยะสั้น