สมาคมธนาคารไทย ตอกย้ำบทบาทธนาคารพาณิชย์หนุนการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ยกระดับธุรกรรมการค้าระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย ชู “2 โครงการ” เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้ธุรกิจ นำเข้า-ส่งออกของไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางการเงิน หรือ Financial Facility & Service ในงานสัมมนา “Thai–Saudi Business Forum” ซึ่งมีภาคธุรกิจไทยและซาอุดิอาระเบียเข้ารับฟังกว่า 200 คน ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ว่า ภาคธนาคารไทยให้ความสำคัญกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมการค้า ให้เกิดการเชื่อมโยงการเงินและการค้าแบบไร้รอยต่อ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการสำคัญ คือ
1.โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นด้านการเงินดิจิทัลแบบครบวงจรของประเทศ ทำให้เกิดเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการค้า การชำระเงิน และภาษีบนระบบออนไลน์ เปลี่ยนจากการค้าแบบใช้เอกสารกระดาษเป็นใช้ระบบดิจิทัล เช่น บริการ e-Invoice e-Tax Invoice และ e-Payment for Business เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรม รวมทั้งเป็นการสร้าง Digital Footprint เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจด้วยต้นทุนที่เหมาะสม นำทางไปสู่การพัฒนา Digital Supply Chain Financing และการนำข้อมูลการค้าและการชำระเงินดิจิทัลมาใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
2.โครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนในการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการนำเข้าและส่งออกของประเทศ โดยบูรณาการข้อมูลธุรกรรมที่เกี่ยวทั้งหมด นำ e-Document มาใช้เพื่อลดการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ เชื่อมต่อกับระบบ National Single Window (NSW) และแพลตฟอร์มการค้าต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อกับ แพลตฟอร์มการค้าของประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และมีแผนที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศในยุโรป และตะวันออกกลางในอนาคต เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าและส่งออก เพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างโอกาสใหม่ๆในเวทีการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ มีบริการหลากหลาย ครอบคลุม ทั้งการโอนเงินระหว่างประเทศ การเรียกเก็บเงิน, เอกสารยืนยันการชำระเงินในการซื้อขายสินค้า(Letter of Credit) และการจัดเตรียมเอกสาร เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารยังมีช่องทางออนไลน์สำหรับทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่สะดวก ทั้งบริการสินเชื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) และบริการด้านเอกสาร โดยในปี 2564 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าทั้งในไทยและในต่างประเทศกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูง โดยเป็นธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ในไทยสูงถึง 65% เป็นธุรกรรมของสาขาของธนาคารต่างประเทศ 35% ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมด สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญต่อธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ของไทย เป็นผู้เล่นหลักในระบบการเงินของไทย มีสินทรัพย์รวมคิดเป็น 92% ของสินทรัพย์รวมของระบบธนาคาร โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 อันดับแรกของไทยมีสินทรัพย์รวมกัน 537 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 79% ของทั้งระบบ ธนาคารไทยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เห็นได้จาก Credit Rating ของธนาคารขนาดใหญ่ 6 อันดับแรกในไทยได้รับ Credit Rating ในกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) จาก 3 หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ
“ระบบธนาคารพาณิชย์ รวมถึงระเบียบกฎเกณฑ์ของไทย เอื้อต่อการทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยง (hedging) อีกทั้งกฎระเบียบใหม่ยังอนุญาตให้บริษัทสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้โดยใช้เอกสารประกอบน้อยลง ซึ่งเชื่อว่าจะสนับสนุนให้การค้าระหว่างไทย-ซาอุฯให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต”