ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไว้ที่ 1.8% โดยมองว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการฉีดวัคซีน แต่หากสามารถเร่งกระจายวัคซีนได้มากพอภายใน 2-3 เดือนนี้ คงทำให้ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานที่คาดว่าการระบาดในระลอกที่ 3 จะบรรเทาลงในช่วงเดือน ก.ค. โดยได้รวมผลบวกจากทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการภาครัฐที่กำลังจะทยอยออกมาทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้แล้ว ขณะที่ คาดว่าการเร่งกระจายฉีดวัคซีนจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในเดือนมิ.ย. – ก.ค. นี้ ซึ่งหากเร่งฉีดได้ในปริมาณที่มากพอกับการสร้างความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจ คงทำให้ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 มีทิศทางที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก และเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า
นอกจากเรื่องวัคซีนและการควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสแล้ว ภาครัฐยังต้องเตรียมรับมือกับอีก 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น อันทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น
นางสาวณัฐพร มองว่า ในระยะสั้น การขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและการขยายเพดานหนี้สาธารณะยังไม่น่าจะเป็นประเด็น โดยคงจะเห็นระดับหนี้สาธารณะที่เกิน 60% ภายในปี 2565 แต่ในระยะกลาง หากยังมีการขาดดุลการคลังในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาจจะนำมาสู่ประเด็นความเชื่อมั่นทางภาคการคลังของไทย ด้านโจทย์เงินเฟ้อไทยที่เพิ่มขึ้นนั้น แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราวและคงไม่ทำให้ กนง.เปลี่ยนท่าทีนโยบายดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มาในจังหวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ดีก็จะทำให้เฟดส่งสัญญาณถอยออกจากนโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งสุดท้ายแล้ว จะนำมาสู่ต้นทุนทางการเงิน ผ่านอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย กดดันภาคธุรกิจที่เพิ่งจะเริ่มดีขึ้น
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ เพิ่มเติมโจทย์เรื่องหนี้ภาคครัวเรือนจากผลสำรวจความคิดเห็นหลังมีโควิดรอบ 3 ว่า สถานการณ์หนี้รายย่อยถดถอยลง โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ลด ค่าใช้จ่ายไม่ลด และภาระหนี้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในโควิดรอบ 2 มาที่ 22.1% ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและน่าจะแตะระดับ 90% ต่อจีดีพีภายในปีนี้ จะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้
ส่วนโจทย์สุดท้าย คือ การปรับขึ้นของต้นทุนหรือราคาสินค้าที่มีผลซ้ำเติมผู้ประกอบการธุรกิจ โดยนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มองว่ากระทบต่อธุรกิจซื้อมาขายไปในยามไม่ปกติที่โควิดฉุดกำลังซื้อและตลาดมีการแข่งขันสูง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี โดยประเมินเบื้องต้นว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น 1% จะกระทบค้าปลีก SMEs ประมาณ 23,600-23,800 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการเผชิญข้อจำกัดในการผลักภาระไปให้กับผู้บริโภค ขณะที่มาตรการรัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ในทางตรงข้าม หากเศรษฐกิจดี ปัญหาหรือผลกระทบนี้ คงมีขนาดที่ลดลง ทั้งนี้ ต้องติดตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังจากนี้ ซึ่งจะมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี