ล.ทิสโก้คาด 1-2 เดือนนี้หุ้นไทยยังปรับขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลกต่อ หลังถูกกดดันจาก COVID-19 ระบาดระลอก 3 ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เผยนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมจ่อปรับเป้า GDP ลง พร้อมเปิดชื่อหุ้นที่มีแนวโน้มประกาศกำไรงาม และหุ้นที่มีปัจจัยบวกหนุนระยะสั้น

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (Mr. Apichat Poobunjirdkul, Senior Strategist, TISCO Securities Co., Ltd) เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนี MSCI World ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% เดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่ ทำให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันดัชนี MSCI World ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 7% ส่งผลให้มูลค่าหุ้นโลกขึ้นมาค่อนข้างสูงโดยมีอัตราราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 20.0 เท่า ขณะที่ปีหน้าอยู่ที่ 17.8 เท่า

อย่างไรก็ตาม บล.ทิสโก้ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า เพราะมีปัจจัยบวกสำคัญเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อ ได้แก่ 1. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากของธนาคารกลางสำคัญในต่างประเทศ ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และแผนการซื้อสินทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาล และ 2. แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกแข็งแกร่งมาก สะท้อนในดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง และภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินตามปกติ ท่ามกลางการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ หลังมีการแจกจ่ายวัคซีนแพร่หลายมากขึ้น

แต่ตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลก (Underperform) เพราะถูกกดดันจากสถานการณ์ระบาด COVID-19 ในประเทศระลอก 3 ทำให้ทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นจะแกว่งไปตามยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเป็นสำคัญ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อชะลอตัวจะกระตุ้นตลาดฟื้นตัวขึ้นได้ ในทางกลับกันหากตัวเลขผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นอาจนำไปสู่การยกระดับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้นอีก ซึ่งจะกดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ล่าช้าออกไป โดย บล.ทิสโก้คาดว่ามีโอกาสที่นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมจะปรับลดเป้าหมาย GDP ของไทยลง ภายหลังที่หน่วยงานของรัฐฯ จะประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2564 ออกมาในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ โดยปัจจุบันนักวิเคราะห์คาดการณ์ GDP ไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2% ปลาย ๆ ถึง 3% ต้น ๆ

นายอภิชาติกล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คือ ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yields) เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางตลาดหุ้นโลกในครึ่งปีหลัง โดย บล.ทิสโก้แนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (10Y US Bond Yield) กลับมาปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.7-1.8% ขึ้นไป คาดว่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังต้องติดตามการส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเงินเฟ้อที่มีโอกาสเร่งตัวขึ้น เพราะประเด็น QE Tapering จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวนได้ โดยปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา Bloomberg ได้สำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า นักเศรษฐศาสตร์เกือบ 60% คาดว่า FED จะเริ่มประกาศทำ QE Tapering ภายในปีนี้ โดยส่วนใหญ่ หรือประมาณ 45% คาด FED จะเริ่มประกาศทำ QE Tapering ในช่วงไตรมาส 4/2564 ซึ่งถือว่าเร็วขึ้นกว่าผลสำรวจเดิมในเดือนมีนาคมที่ส่วนใหญ่คาดเป็นช่วงไตรมาส 1/2565 หากเป็นเช่นนั้น บล.ทิสโก้มองว่า FED อาจเริ่มส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่องในช่วงกลางปี ก่อนที่จะประกาศในช่วงปลายปีนี้และดำเนินการลดจริงในช่วงต้นปีหน้า

สำหรับหุ้นที่ บล.ทิสโก้แนะนำในเดือนนี้จะเน้นหุ้นที่แนวโน้มกำไรจะออกมาดี มีประเด็นบวกหนุนระยะสั้นที่หลากหลาย เช่น ธีมหุ้นรับอานิสงส์การระบาดระลอกใหม่ ได้แก่ BCH และ STGT หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก-การส่งออก-ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้น ได้แก่ JWD SCGP และTVO หุ้นที่คาดจะเข้าคำนวณในดัชนีต่าง ๆ สำหรับดัชนี MSCI คาดว่าหุ้น SCGP จะได้รับประโยชน์ และ ดัชนี SET50 คาดว่าหุ้น STGT จะได้รับประโยชน์ และสุดท้ายคือหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวอื่น ๆ ได้แก่ EASTW และ HMPRO เพราะฉะนั้น หุ้นแนะนำในเดือน พฤษภาคม คือ BCH EASTW HMPRO JWD SCGP STGT และ TVO ด้านแนวรับสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,570-1,575 แนวรับต่อมาคือ 1,545-1,550 จุด และ 1,530 จุด และแนวต้านสำคัญ คือ 1,600-1,610 จุด และแนวต้านถัดไปคือ 1,620-1,630 จุด (หากถึงระดับนี้เน้นขายเหมือนเดือนก่อนหน้าที่มองโอกาสการปรับขึ้นของตลาดหุ้นเริ่มจำกัด) และ1,650 จุด ตามลำดับ