กว่างซี หรือ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการค้าและการลงทุนที่เชื่อมต่อยุโรปตะวันออก จีนตะวันตก ไทย และอาเซียน เข้าด้วยกัน โดยมีท่าเรือชินโจวเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเส้นทางการค้าทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ (ILSTC) อีกทั้งยังเป็นประตูเชื่อมให้สินค้าจากประเทศไทยเข้าไปรุกในตลาดจีนตะวันตก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางของจีนก็มุ่งพัฒนาท่าเรือชินโจวให้เป็นส่วนหนึ่งของพลวัติการค้าแห่งใหม่ของจีนตะวันตกผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 และกรอบเขตการค้าเสรีของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
ท่าเรือชินโจว เป็นท่าเรืออัตโนมัติแห่งแรกของจีนที่ให้บริการขนส่งทางทะเลและทางรถไฟหลายรูปแบบ สามารถรองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 200,000 ตัน และมีคลังน้ำมันขนาด 300,000 ตัน และท่าเทียบเรือรองรับสินค้าเทกอง (Bulk) 300,000 ตัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ด้วยฟังก์ชัน “Smart Port” ท่าเรือชินโจวยังสามารถอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก ผลไม้สด ธัญพืช ผัก รถยนต์ และเนื้อสัตว์ ควบคู่ไปกับการพัฒนานโยบายศุลกากรแบบ “International Single Window” เพื่อลดขั้นตอนการขนส่งผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล และมอบโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนที่กำลังเติบโตอย่างยิ่งยวด
อีกทั้ง การดำเนินการตามความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-อาเซียน และการพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องของจีน (กว่างซี) จะเป็นแรงผลักดันที่แข็งขันให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ เพิ่มเครือข่ายการเดินเรือ การค้าและอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งห่วงโซ่อุปทานในเขตเศรษฐกิจต่างๆ ที่สำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย เมืองฉงจั่ว นิคมอุตสาหกรรมระยองไทย-จีน เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เป็นต้น ท่าเรือชินโจว ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกวางซีจ้วง หรือ กว่างซี เป็นท่าเรือ “ทางเลือกใหม่” แก่ผู้ประกอบการไทยในการขยายโอกาสการค้าในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในจีนตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ของจีน และกระจายสินค้าต่อไปยัง 16 มณฑลทั่วประเทศจีนได้อย่างสะดวก หรือส่งสินค้าไปเจาะตลาดเอเชียกลางและยุโรป (คาซัคสถาน รัสเซีย โปแลนด์ และเยอรมนี)
ท่าเรือชินโจว มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยมีโมเดล “เรือ+ราง” ที่อำนวยความสะดวกให้การขนส่งมีความรวดเร็ว ประหยัดเวลา (ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 4-5 วัน) ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนรวมของการขนส่งได้มากถึง 18%-38% หากเปรียบเทียบกับการขนส่งผ่านเส้นทางอื่นๆ จากประเทศไทยไปประเทศจีน ด้วยระบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ที่ Integrate เทคโนโลยี 5G ทำให้การขนส่งทำได้รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ที่ท่าเรือชินโจวมีความแออัดน้อย ทำให้การระบายตู้สินค้าไม่ต้องรอคิวนาน (คิวเรือเข้าเทียบท่า/ ขนถ่ายตู้สินค้า/ กระบวนการตรวจปล่อยสินค้าของศุลกากร) จึงช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบได้อย่างมาก ท่าเรือชินโจว คือโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มค้าเกษตร หรือมันสำปะหลังเป็นต้น นอกจากนี้ ท่าเรือชินโจวได้ถูกกำหนดให้เป็นด่านนำเข้าสินค้ากลุ่มเฉพาะ 3 ประเภท ได้แก่ ผลไม้นำเข้า ธัญพืชนำเข้า และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นำเข้า ดังนั้น การค้าและการขนส่งผ่านท่าเรือชินโจวจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่จะนำสินค้าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตที่กำลังเติบโตของจีนที่หันมาสนับสนุนการบริโภคในประเทศมากขึ้น