Key Highlights
 ตลาดเสริมความงามจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยคาดว่า ภาพรวมตลาดเสริมความงามทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงขึ้นไปแตะระดับ 2.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 13.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.5 เท่า โดยบริการที่น่าจับตามอง คือ การเสริมความงามในกลุ่มที่ไม่ใช่การศัลยกรรม (Noninvasive Procedures) ที่เน้นแก้ไขสัญญาณแห่งวัย อาทิ การฉีดโบท็อกซ์ การฉีดฟิลเลอร์
 ตลาดเสริมความงามของไทยจะมีมูลค่ากว่า 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า
 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญของตลาดเสริมความงาม คือ ความต้องการเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดี ความวิตกกังวลกับริ้วรอยและความหย่อนคล้อยของผิวหน้าอันบ่งบอกถึงสัญญาณแห่งวัย เทคโนโลยีด้านความงามที่ทันสมัย ปลอดภัย และเห็นผลลัพธ์การรักษาที่ชัดเจน และการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงามที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตโดดเด่นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จากความต้องการเดินทางเพิ่อเสริมความงามที่สะสมมานานกว่า 3 ปี

สุจิตรา อันโน
Krungthai COMPASS

“ผู้หญิงอย่าหยุดสวย” วลีฮิตที่ไม่เคยตกยุค ซึ่งปัจจุบันไม่ว่าเพศไหน วัยไหน หรือชาติใด เรื่องความงามเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา ตามค่านิยมของผู้คนในปัจจุบันที่ต้องการแก้ไขจุดบกพร่องของร่างกายและใบหน้า และเสริมภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดีขึ้น เพราะจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้กับตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ “เวชศาสตร์ความงาม” (Aesthetic Medicine) เป็นเทรนด์ที่ยังมาแรง และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยการเสริมความงามในรูปแบบต่างๆ ได้รับความสนใจและเปิดกว้างขึ้น ทั้งการศัลยกรรมหรือการผ่าตัดเสริมความงาม อาทิ การผ่าตัดเสริมหน้าอก การผ่าตัดเสริมจมูก การศัลยกรรมตา 2 ชั้น การดูดไขมัน และการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัด แต่ใช้วิธีการใช้ยาฉีด การนวด การกดจุด การฝังเข็ม อาทิ การฉีดโบท็อกซ์ (Botox Injections) การฉีดฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็ม (Soft Tissue Fillers) การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel) ซึ่งจากผลสำรวจล่าสุดของ RealSelf Insights Center ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 กับความต้องการเสริมความงาม พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 98% ยังคงสนใจและต้องการเสริมความงามต่อไป ขณะที่ผลสำรวจจากบริษัทวิจัยตลาด GlobalWebIndex ที่ได้มีการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความสนใจเกี่ยวกับการศัลยกรรมในกลุ่มชายและหญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูง (C-Level) ที่มีอายุ 25-64 ปี พบว่า คนกลุ่มนี้มีความสนใจที่จะศัลยกรรมเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งราคาไม่ใช่ปัจจัยในการตัดสินใจ เพราะพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองจากที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม? ตลาดเสริมความงามจึงยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า “ตลาดเสริมความงามจะมีโอกาสเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน? และการเสริมความงามกลุ่มไหน? ที่จะมาแรงในอนาคต”

ทำความรู้จักกับ…“เวชศาสตร์ความงาม” (Aesthetic Medicine)การเสริมความงามมีศัพท์ทางวิชาการที่เรียกกันว่า “เวชศาสตร์ความงาม” (Aesthetic Medicine) ที่เน้นการรักษาโดยตรง ซึ่งครอบคลุมทั้งการผ่าตัดเพื่อศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวย การทำหัตถการทางการแพทย์ที่หลักๆ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สารลดเลือนริ้วรอย หรือ Botulinum toxin A (Botox) สารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ การร้อยไหม และกลุ่มที่ใช้พลังงานทำให้ผิวหนังตึง ทั้งนี้ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย ได้แบ่งเวชปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสวย เสริมความงาม ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. Noninvasive Procedure คือ การใช้ยากินหรือยาฉีด การนวด การกดจุด การฝังเข็ม เป็นต้น ซึ่งแพทย์ทั่วไป หรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ได้รับอนุญาต สามารถทําเวชปฏิบัติเหล่านี้ได้ในคลินิกทั่วไป ซึ่งการเสริมความงามในกลุ่มนี้ อาทิ การฉีดโบท็อกซ์ การฉีดฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็ม (Soft Tissue Fillers) การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel)
2. Minimally Invasive Procedure หรือการรักษาแบบ “กึ่งศัลยกรรม” คือ การทำหัตถการที่ต้องผ่าตัดเปิดแผลเพียงเล็กน้อย (Minor Surgery) ซึ่งอาจจะใช้การส่องกล้องเป็นเครื่องมือช่วย การใส่วัสดุเสริม การใช้ไหมร้อย เลเซอร์ เป็นต้น
3. Invasive Procedure ซึ่งก็คือ การผ่าตัดใหญ่ (Major Operation) หรือการศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยประเภทต่างๆ อาทิ การผ่าตัดเสริมหน้าอก การผ่าตัดเสริมจมูก การศัลยกรรมตา 2 ชั้น การดูดไขมัน

อนาคตตลาดเสริมความงาม ยังมีแนวโน้มเติบโตหลังโควิด-19 คลี่คลายแม้ว่าธุรกิจเสริมความงาม จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง คาดว่า ตลาดเสริมความงามจะฟื้นตัวได้เร็ว และมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นในระยะข้างหน้า
ซึ่งภาพรวมมูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลกมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ ความต้องการเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดี และยังมีแรงหนุนสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความวิตกกังวลกับริ้วรอยและความหย่อนคล้อยของผิวหน้าอันบ่งบอกถึงสัญญาณแห่งวัยเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งสัญญาณแห่งวัย เช่น ริ้วรอย ผิวขาดความยืดหยุ่น หย่อนคล้อย และจุดด่างดำ จะเริ่มปรากฏในช่วงอายุ 25 ถึง 30 ปี และจะเด่นชัดมากขึ้นในช่วงอายุ 30 เป็นต้นไป ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงอายุ 25-65 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังนิยมและต้องการการเสริมความงามอยู่ จึงส่งผลบวกให้ตลาดเสริมความงามมีโอกาสเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2573 จำนวนประชากรทั่วโลก ในช่วงอายุ 25-65 ปี จะมีจำนวนประมาณ 4,300 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจำนวนประชากรทั่วโลกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวนประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 3,900 ล้านคน 9.8%
ขณะที่เทคโนโลยีด้านความงามได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีความล้ำหน้าทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีความปลอดภัยมากกว่าในอดีตค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัย และไม่ส่งผลเสียต่อผู้ที่เข้ารับการรักษา นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเห็นความแตกต่างหลังจากที่เข้ารับการรักษา ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้บริการเสริมความงามได้ง่ายขึ้น

ซึ่งจากรายงานของ Grand View Research ที่ได้ประเมินมูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลก คาดว่า ในปี 2570 มูลค่าตลาดจะขึ้นไปแตะระดับ 2.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 13.9% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.5 เท่า โดยมูลค่าตลาดเสริมความงามในกลุ่มที่ไม่ใช่การศัลยกรรม (Noninvasive Procedures) มีสัดส่วนมากกว่าการเสริมความงามโดยการศัลยกรรม (Invasive Procedures) ที่ระดับ 56% ของมูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลก อย่างไรก็ดี ทั้งการเสริมความงามในกลุ่มที่ไม่ใช่การศัลยกรรม และการเสริมความงามโดยการศัลยกรรม ต่างมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นทั้งคู่ โดยการฉีดสารลดเลือนริ้วรอย หรือการฉีดโบท็อกซ์ (Botox Injections) ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มเสริมความงามที่ไม่ใช่การศัลยกรรม รองลงมา คือ การฉีดฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็ม (Soft Tissue Fillers) การกรอผิว (Microdermabrasion) และการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel) ขณะที่การเสริมหน้าอก ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มการเสริมความงามโดยการศัลยกรรม ซึ่งสอดคล้องกับรายงานฉบับล่าสุดของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgeons) หรือ ISAPS ที่ระบุว่า การผ่าตัดเสริมความงามที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การเสริมหน้าอก โดยมีผู้เข้ารับการเสริมหน้าอก คิดเป็นสัดส่วน 16% ของการผ่าตัดเสริมความงามทั้งหมด และการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การฉีดโบท็อกซ์ คิดเป็นสัดส่วน 43% ของการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดทั้งหมด

ทั้งนี้ “ตลาดอเมริกาเหนือ” มีสัดส่วนมูลค่าตลาดมากที่สุดประมาณ 36% รองลงมาเป็นตลาดยุโรปที่มีสัดส่วนมูลค่าตลาด 26% ของมูลค่าตลาดรวม (ปี 2563) ซึ่งสอดคล้องกับรายงานฉบับล่าสุดของ ISAPS ที่ระบุว่า ประเทศที่มีการเสริมความงามมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เยอรมนี ญี่ปุ่น ตุรกี เม็กซิโก อาร์เจนตินา อิตาลี รัสเซีย และอินเดีย“ตลาดเอเชียแปซิฟิก” เติบโตโดดเด่นมากที่สุด โดยคาดว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาด 5.59 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจากปี 2563 ที่มีมูลค่า 2.00 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับสาม คิดเป็นสัดส่วน 23%) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15.8% (CAGR ปี 2563-2570) และจะมีสัดส่วนมูลค่าตลาดขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับตลาดยุโรปที่ 26% ของมูลค่าตลาดรวม

ตลาดเสริมความของไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยได้รับแรงหนุนสำคัญทั้งจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย และกลุ่ม Medical Tourism ที่ฟื้นตัว และโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้าKrungthai COMPASS มองว่า ตลาดเสริมความงามของไทยมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงาม โดยรายงานล่าสุดของ ISAPS ระบุว่า “ไทย” เป็นประเทศที่มีการเสริมความงามมากที่สุดเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ขณะที่มีรายงานอีกฉบับระบุว่า ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2562) “ไทย” เป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการเสริมความงามมากที่สุดในโลก ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่เชื่อได้ว่าหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง และการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ไทยจะยังสามารถครองแชมป์ประเทศที่มีผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการเสริมความงามเดินทางเข้ามาใช้บริการมากที่สุดในโลก เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยจุดเด่นสำคัญที่นอกเหนือจากชื่อเสียงของแพทย์ คุณภาพและมาตรฐานการรักษา และการบริการที่ดีจากแพทย์และพยาบาล คือ ค่ารักษาพยาบาลในไทยถูกกว่าประเทศในภูมิภาคและประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากข้อมูลของ Medical Tourism Association พบว่า ค่าบริการเสริมความงามของไทยถูกกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 50-120% (โดยเฉลี่ยประมาณ 80%) และยังถูกกว่าประเทศในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยประมาณ 24% และ 7% ตามลำดับ นอกจากนี้ การมีเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ด้านความงามที่ทันสมัยทัดเทียมนานาชาติ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการเสริมความงามได้ไม่ยากนักโดยเรามองว่า การเติบโตของตลาดเสริมความงามจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างธุรกิจบริการทางการแพทย์ของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางด้านการศัลยกรรมตกแต่งและการเสริมความงาม ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจนำเข้าและ/หรือจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ด้านความงาม และผลิตภัณฑ์/สาร/ยาเสริมความงาม ธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดคลินิกเสริมความงาม และธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม ก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน

และสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงาม ซึ่งจากข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาด Allied Market Research พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพื่อเสริมความงาม (Cosmetic treatment) สร้างรายได้ให้ไทยมากที่สุด โดยคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดกว่า 5.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยทั้งนี้ จากข้อมูลของ Grand View Research คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดเสริมความงามของไทย จะขึ้นไปแตะระดับ 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.6% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า

นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ อีกแรงหนุนสำคัญเร่งเครื่องให้ตลาดเสริมความงามไทยเติบโตก้าวกระโดดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายประเทศ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระทบต่อการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย จากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะกลับมาฟื้นตัวชัดขึ้นในปี 2566 และโน้มขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต ตามความต้องการแสวงหาการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาด Allied Market Research พบว่า ในปี 2562 กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลกนิยมใช้บริการ “ด้านเสริมความงาม (Cosmetic treatment)” มากเป็นอันดับ 2 รองจากการใช้บริการด้านทันตกรรม (Dental treatment) คิดเป็นสัดส่วน 22.8% ของจำนวนท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก และมีแนวโน้มที่สัดส่วนจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 23.4% ในปี 2570 โดยคาดว่าในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวเพื่อเสริมความงามจะมีมูลค่าตลาดแตะระดับ 3.68 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อเสริมความงาม ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย จีน และสิงคโปร์ ทั้งนี้ คาดว่าตลาดท่องเที่ยวเพื่อเสริมความงามของไทย ในปี 2570 จะมีมูลค่ากว่า 5.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบสองแสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 13.0% ต่อปี (ปี 2562-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เกือบ 3 เท่า

กลุ่มธุรกิจใด? ที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดเสริมความงาม (Aesthetic Medicine)Krungthai COMPASS ประเมินว่า การเติบโตของตลาดเสริมความงามไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ธุรกิจคลินิกศัลยกรรมตกแต่ง และธุรกิจคลินิกเสริมความงาม เท่านั้น แต่ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม อย่างธุรกิจนำเข้าและ/หรือจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ด้านความงาม อาทิ เครื่องดูดไขมัน เครื่องสลายไขมันและกำจัดเซลลูไลท์ เครื่องยกกระชับสัดส่วน เครื่องเลเซอร์และ IPL ธุรกิจนำเข้าและ/หรือจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์/สาร/ยาเสริมความงาม อาทิ Botulinum toxin A (Botox) ฟิลเลอร์ และสารเสริมความงามชนิดต่างๆ ธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดคลินิกเสริมความงาม ตลอดจนธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม ก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน

Implication:
• Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดเสริมความงามของไทยมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยได้รับแรงหนุนสำคัญทั้งจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงามโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลในไทยถูกกว่าประเทศในภูมิภาค อาทิ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ และประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ การมีเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ด้านความงามที่ทันสมัยทัดเทียมนานาชาติ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการเสริมความงามและสามารถครองแชมป์ประเทศที่มีผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการเสริมความงามเดินทางเข้ามาใช้บริการมากที่สุดในโลกได้ไม่ยากนัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากความต้องการเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดีตามค่านิยมของผู้คนในปัจจุบัน ความวิตกกังวลกับริ้วรอยและความหย่อนคล้อยของผิวหน้าอันบ่งบอกถึงสัญญาณแห่งวัยเมื่อมีอายุมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีด้านความงามได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีความล้ำหน้าทันสมัย และยังมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากกว่าในอดีตค่อนข้างมาก สามารถเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเห็นความแตกต่างหลังจากที่เข้ารับการรักษา ในขณะที่ราคาสมเหตุสมผล ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้บริการเสริมความงามได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงามที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตโดดเด่นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จากความต้องการเดินทางเพิ่อเสริมความงามที่สะสมมานานกว่า 3 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาดเสริมความงามไทยในอนาคต
• การเติบโตของตลาดเสริมความงามจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ของไทย อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางด้านการศัลยกรรมตกแต่งและการเสริมความงาม นอกจากนี้ ศักยภาพการเติบโตของธุรกิจยังส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจนำเข้าและ/หรือจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ด้านความงาม และผลิตภัณฑ์/สาร/ยาเสริมความงาม ธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดคลินิกเสริมความงาม และธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม ก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน