สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันโลกที่พุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ของธนาคารกลางสหรัฐ ภาวะเงินเฟ้อ และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Digital Economy แบบสุดตัว เป็นโอกาสและความท้าทายที่นักลงทุนไทยต้องเตรียมพร้อมและรับมือให้ทันในปีนี้ ซึ่งเหล่ากูรูด้านการเงินการลงทุนได้มาเผยทิศทางและให้คำแนะนำภายในงานสัมมนาออนไลน์ “THE WISDOM The Symbol of Your Vision: Game Changer แก้เกมการลงทุน ปรับทัพรับดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ” ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า นับจากต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ความตึงเครียดของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับยูเครนและชาติตะวันตก ส่งผลต่อราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนทั่วโลก สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และกดดันให้เงินเฟ้อมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทบทวนประมาณการจีดีพีใหม่ มาอยู่ที่ 2.5% จากเดิมเมื่อปลายปี 2564 ที่เคยมองว่าจะขยายตัว 3.7%
เศรษฐกิจโลก-ไทย ยังไปได้…ลุ้นจุดจบรัสเซีย-ยูเครน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 จะขยายตัว 4.4% ชะลอลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย โดยสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญ ซึ่ง ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า แนวโน้มที่จะเป็นไปได้มากที่สุดคือ สงครามจะมีความยืดเยื้อตลอดทั้งปี
- สหรัฐอเมริกา: อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 2.8% แม้จะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่ง 7.9% ซึ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีและตลาดแรงงานที่ร้อนแรงก็ตาม โดยได้รับผลกระทบจากสงครามค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก
- ยุโรป: มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากภูมิภาคนี้
- จีน: ปัจจัยสำคัญที่จะกระทบภาคเศรษฐกิจไม่ใช่สงคราม แต่อยู่ที่เรื่องการระบาดของ COVID-19 ที่ตอนนี้ 20 ภูมิภาคสำคัญ ซึ่งคิดเป็น 70% ของ GDP ประเทศ กำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้อยู่ โดยจีนตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 5.5% ต่อปี
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นสูงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากต้องนำเข้าถึง 90%และจะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และทำให้ GDP ลดลง อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยังคงเป็นพระเอก ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตที่ดี และยังไม่ต้องกังวลมากนัก หากสงครามจำกัดเฉพาะอยู่ในรัสเซียและยูเครน ไม่ได้ขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในยุโรป เนื่องจากสัดส่วนรวมกันของสองประเทศนี้ยังไม่ถึง 0.5% ของการส่งออกของไทย
4 เทรนด์แรงที่นักลงทุนต้องจับตา!
ในแง่ของการลงทุน ต้องมองในเรื่องของสงครามการเงินด้วย นอกเหนือจากสงครามทางกายภาพที่เป็นการสู้รบ ซึ่งนางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group, ธนาคารกสิกรไทย ชี้ให้เห็นว่า ในปีนี้มีแนวโน้มสำคัญ 4 ประการที่นักลงทุนต้องติดตามให้ทัน ได้แก่
1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะจบอย่างไร จะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น มาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ การให้เลิกใช้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT และการกีดกันทางการค้า
2. การปรับลดตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจ ตัวเลข GDP ทั้งโลกจะถูกปรับลงหนักแค่ไหน เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูง จะมีการปรับเงินเฟ้อพุ่งไปอีกแค่ไหน และสถานการณ์ COVID-19 ที่จีน จะยิ่งซ้ำปัญหาของห่วงโซ่ซัพพลายมากแค่ไหน
3. นโยบายการเงิน หากสงครามยืดเยื้อ ธนาคารกลางทั่วโลกจะอดทนมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะที่ขึ้นช้าและขึ้นน้อย
4. นโยบายการคลัง ต้องติดตามว่าประเทศต่าง ๆ จะมีการใช้จ่ายด้านการคลังอย่างไร จะมีแพ็กเกจหรือโปรแกรมแบบไหนออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยกลยุทธ์การลงทุนที่ดีที่สุดในวันนี้คือ การกลับมาดูพอร์ตของตัวเอง ซึ่งหากลงทุนเต็มและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ควรกอดพอร์ตไว้แน่น ๆ อย่าหวั่นไหว ส่วนคนที่มีเงินสดควรกระจายการลงทุนด้วยการทยอยซื้อหุ้น กองทุนตราสารหนี้และทองคำ เพราะช่วงที่ตลาดลงแบบนี้ถือเป็นโอกาสของคนที่มี Cash นั่นเอง
Cryptocurrency…ผันผวนสูง แต่ยังแข็งแกร่ง
ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในการนำ Cryptocurrency มาใช้ โดยมี COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นหลัก ซึ่งนายสัญชัย ปอปลี ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และที่ปรึกษาสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยแห่งประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นว่า ในช่วงประมาณปี 2561 – 2562 ตัวเลขคนเทรดในตลาด Cryptocurrency ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณหลักแสนคน แต่ทุกวันนี้พุ่งขึ้นถึง 2 ล้านคน เติบโตประมาณ 20 เท่าภายใน 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเติบโตที่สูงมาก และคาดว่าจะขยายตัวได้อีก โดยทิศทางของ Cryptocurrency ที่จะเห็นในปีนี้ ได้แก่
- ขยับจากเฉพาะกลุ่มสู่การใช้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการลงทุน แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของไลฟ์สไตล์ ศิลปะ และเกม ซึ่งศิลปินและเกมเมอร์เริ่มเข้าสู่โลก Digital Asset มากขึ้น โดยมี NFT หรือ Cryptocurrency เป็นตัวเชื่อม
- บริษัทยักษ์ใหญ่ลงทุนใน Cryptocurrency มากขึ้น
- หลายประเทศทั่วโลกกำลังมองถึงการเปลี่ยนตัว Bitcoin ให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) ได้ในประเทศ หลังจากที่ประเทศเอลซัลวาดอร์เป็นชาติแรกของโลกที่ประกาศใช้เมื่อปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาลงทุนในตลาดนี้ ต้องรู้ก่อนว่า Cryptocurrency มีความผันผวนสูง และต้องคอยมอนิเตอร์ทุกอย่างตลอดเวลา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็ว รวมถึงมีหลายปัจจัยและข้อมูลที่ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ ซึ่งจะใช้กรอบการลงทุนแบบในหุ้นหรือกองทุนรวมมาใช้ใน Cryptocurrency ไม่ได้
Digital Token มิติใหม่แห่งการลงทุน
กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากสำหรับ Digital Token (โทเคนดิจิทัล) สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยนางสาวอภิญญา เรืองทวีคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัดอธิบายว่า Digital Token ในประเทศไทย จะเป็นเหรียญที่ออกด้วยบริษัทคอร์ปอเรตหรือบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. โทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นประเภทโทเคนที่ผู้ออกมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุน เพื่อมาร่วมลงทุนในตัวโครงการที่เขานำเสนอ ซึ่งอาจกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุนเป็นสิทธิในส่วนแบ่งรายได้หรือเงินปันผล นับเป็นช่องทางใหม่ในการระดมทุนและรูปแบบใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
2. โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เป็นประเภทโทเคนที่ให้ผู้ถือมีสิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ผู้ออกนำเสนอ เช่น สิทธิการเข้าพักที่โรงแรม สิทธิรับส่วนลดต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะเปลี่ยนการถือครองให้เป็นแบบดิจิทัล เพื่อให้ใช้ได้สะดวกขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจาก Digital Token เป็นอุตสาหกรรมใหม่ นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจในตัว Token หรืออุตสาหกรรมที่จะเข้าไปให้ดี รวมถึงควรติดตามข้อมูลข่าวสาร กฎระเบียบ ภาษี และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตลอดเวลา โดยสินทรัพย์ทางเลือกประเภทนี้สามารถที่จะสร้างโอกาสให้ทั้งฝั่งผู้ออกเหรียญและผู้ที่เป็นนักลงทุน
Post Views: 244