ถึงแม้ว่าสัดส่วนของผู้บริหารสตรีที่นั่งในบอร์ดของบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปจะอยู่ที่ 36.9% ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่ในภาพรวม ตัวเลขรวมลดลง ด้วยสัดส่วนของผู้บริหารหญิงในบอร์ดของบริษัทในเอเชียแปซิฟิกที่มีอยู่เพียง 10.7% ทำให้อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ประมาณ 20.2% เท่านั้น จากการสำรวจองค์ประกอบของคณะกรรมการในบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด 200 แห่งจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน (Fortune Global 200) ซึ่งคอร์ปอเรท วีเมน ไดเร็คเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CWDI) จัดทำต่อเนื่องมานาน 18 ปีพบว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผู้บริหารสตรีที่มีตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 9.8% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของการจัดอันดับบริษัทใหญ่ที่สุดของโลกของนิตยสารฟอร์จูน โดยบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ติดอันดับดังกล่าวมีจำนวนถึง 91 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีจำนวน 63 แห่ง และกรรมการบริษัทที่เป็นสตรีในองค์กรเหล่านี้มีสัดส่วนเพียง 8.9% นอกจากนี้ มีบริษัท 26 แห่งในประเทศจีนที่ไม่มีกรรมการบริษัทเป็นผู้หญิงเลย การที่มีบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกติดอันดับกิจการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมากดังกล่าว ส่งผลให้สถิติจำนวนผู้นำองค์กรทั่วโลกที่เป็นสตรีมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากองค์กรที่มีขนาดใหญ่มักเป็นผู้กำหนดเทรนด์ของโลก
แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรในยุโรป เช่น การกำหนดโควตา การยอมรับความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ส่งผลให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้ามาเป็นผู้บริหารในคณะกรรมการบริษัทมากขึ้น และเทรนด์นี้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก
ประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริหารสตรีในคณะกรรมการบริษัทสูงสุดในโลก ได้แก่ ฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้บริหารหญิงมากถึง 46.5% เนื่องจากกฎหมายการกำหนดโควตาผู้บริหารสตรีที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และในการจัดท็อปเท็นบริษัทที่มีกรรมการเป็นผู้หญิงนั้น เป็นบริษัทที่อยู่ในยุโรปถึง 11 แห่ง
บริษัทอื่น ๆ ที่ติดอันดับท็อปเท็นองค์กรที่มีสัดส่วนผู้บริหารสตรีมาก เป็นบริษัทในสหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนผู้บริหารหญิงเฉลี่ยที่ 33% ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ไม่ใด้ใช้หลักการกำหนดโควตาและจะยังคงตามหลังยุโรปแต่ก็เริ่มตามมาทันเนื่องจากการใช้กลยุทธ์การกำหนดผู้ถือหุ้นสถาบันแบบ bottom-up ที่สนับสนุนให้กองทุนบำเหน็จบำนาญหรือกองทุนที่ลงทุนในกิจกรรมสังคมและหุ้นที่ต้องติดต่อกับบริษัทที่ไม่มีผู้บริหารสตรีในบอร์ด ได้คำนึงถึงปัจจัยเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นในการแต่งตั้งบอร์ด เมื่อเร็วๆ นี้ ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ได้ขอให้บริษัทในตลาดฯ ชี้แจงองค์ประกอบของบอร์ด และแนะนำให้แต่ละบริษัทมีกรรมการอย่างน้อย 2 คนเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้แทนของชนกลุ่มน้อย แนวโน้มดังกล่าวในบริษัทที่มีผลประกอบการดีสะท้อนให้เห็นว่า การที่บริษัทใดจะขึ้นสู่การเป็นบริษัทท็อปเท็นจำเป็นจะต้องมีกรรมการสตรีในสัดส่วนอย่างน้อย 45% (เทียบกับ 25% เมื่อปี 2547) บริษัท 8 แห่งที่มีกรรมการในบอร์ดเป็นผู้หญิงครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า และทุกบริษัทต่างก็มีจำนวนผู้บริหารสตรีเป็น “ส่วนใหญ่” หรือมากกว่า 30% ทั้งนั้น
ไอรีน นาทิวิแดด ประธาน CWDI กล่าวว่า “ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ที่ CWDI ได้เริ่มทำการสำรวจสัดส่วนของผู้บริหารสตรีในบอร์ดบริษัทระดับ Fortune Global 200 มาจนทุกวันนี้ เราได้เห็นว่ามีการแต่งตั้งผู้บริหารหญิงเข้ามาในบอร์ดบริษัทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการเชิงรุก ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสได้รับตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาเพราะมีแรงกดดันอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดโควตา ข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดเรื่องผู้ถือหุ้น และตัวของสตรีเอง” ในปัจจุบัน มี 33 ประเทศทั่วโลกที่ได้กำหนดโควตาสัดส่วนของกรรมการที่เป็นสตรี จากรายงานที่จัดทำขึ้นแสดงให้เห็นว่า บริษัทในประเทศที่มีการกำหนดโควตาสัดส่วนกรรมการที่เป็นสตรี จะมีผู้บริหารหญิงในบอร์ดประมาณ 38.5% เทียบกับบริษัทในประเทศที่ไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายซึ่งสัดส่วนของกรรมการหญิงในบอร์ดบริษัทจะมีประมาณ 22% สำหรับในอนาคต CWI ได้สำรวจจำนวนผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทที่ติดกลุ่ม Fortune Global 200 พบว่าผู้บริหารระดับสูงที่เป็นหญิงมีสัดส่วน 17.6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากในสังคมล้วนแต่ประสบความยากลำบากในการ “ปั้น” ผู้บริหารหญิงขององค์กรให้ก้าวสู่ตำแหน่งในระดับสูง มากกว่าการแต่งตั้งผู้หญิงจากภายนอกองค์กรเข้าไปนั่งในบอร์ด
บริษัทชั้นนำที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยมที่ติดท็อปเท็นบริษัทที่มีกรรมการบริษัทเป็นผู้หญิงมากที่สุด ได้แก่ บริษัทอเมริกัน ซึ่งมีสัดส่วนกรรมการหญิง 26.9% ตามด้วยยุโรป 22.4% และเอเชียแปซิฟิก ที่ทิ้งห่างด้วยสัดส่วน 6.3% อย่างไรก็ดี ในการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูนพบว่า บริษัทของจีนยังมีสัดส่วนกรรมการหญิงมากกว่าบริษัทเอเชียอื่นๆ โดยผู้หญิงที่มีตำแหน่งบริหารระดับสูงในบริษัทจีนมีสัดส่วน 8.6% ตัวอย่างเช่น อาลีบาบา ซึ่งเป็นบริษัทท็อปเท็นมีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงถึง 5 คนจาก 13 คนหรือคิดเป็น 38.5% ซึ่งทิ้งห่างจากบริษัทจีนอื่นๆ ที่มีสัดส่วนผู้บริหารหญิงต่ำมาก และในบรรดาบริษัทที่ติดอันดับท็อปเท็น บริษัท วอลกรีนส์ (Walgreens) ซึ่งเป็นบริษัทยาของสหรัฐ มีสัดส่วนกรรมการหรือผู้บริหารที่เป็นสตรีสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ 62.5%
“เราคงต้องทำงานกันหนักขึ้นเพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ก้าวสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงมากขึ้น เพราะถ้าในคณะกรรมการบริษัทต่างๆ ยังคงมีจำนวนกรรมการที่เป็นสตรีน้อย ก็คงยากที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคในด้านจำนวนกรรมการสตรีภายในองค์กรทั่วโลก” ไอรีนกล่าว