นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.56-34.63 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางปริมาณการทำธุรกรรมที่เบาบางในช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาสในหลายประเทศ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้ เงินบาทยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเป้าเงินบาท ณ สิ้นปี ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ปิดทำการเนื่องในวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส ทั้งนี้ สัญญาฟิวเจอร์สของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเล็กน้อย สะท้อนว่า บรรยากาศในตลาดการเงินอาจยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงในช่วงนี้ได้
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.21% ท่ามกลางแรงขายทำกำไร หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้า จากความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อนึ่ง ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นยุโรป ผ่านแรงขายหุ้นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Ferrari -2.5%, Kering -1.2%
ในฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวที่ระดับ 3.90% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีการประมูลบอนด์อายุ 2 ปี, 5 ปี และ 7 ปี โดยผลการประมูลบอนด์ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้เช่นกัน ทำให้เรายังคงประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเคลื่อนไหวผันผวน และมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน แนวโน้มบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากทิศทางสัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจกดดันให้เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหว sideway หรือ อ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเราประเมินว่า ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) มีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ 101.5-101.8 จุด อนึ่ง จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิคัล พบว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง จากสัญญาณ RSI Bullish Divergence ทั้งใน Time Frame Day, H4 เป็นต้น ทำให้ต้องจับตามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะพลิกกลับมา “ปิดรับความเสี่ยง” หรือไม่ รวมถึง บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น หลังรับรู้ผลการประมูลบอนด์หรือไม่ เช่นกัน ในส่วนของราคาทองคำ แรงขายทำกำไรทองคำในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาส อาจยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นผ่านโซนแนวต้าน 2,070-2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ง่ายนัก ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิคัล พบว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway หรืออาจทยอยปรับตัวขึ้นต่อ ทดสอบโซนแนวต้านได้อีกครั้ง ซึ่งหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านได้อีกรอบ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติมและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจและสำคัญอาจมีไม่มากนัก โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประมูลบอนด์ 2 ปี สหรัฐฯ ในช่วงเวลาราว 1.00 น. ของเช้าวันพุธที่ 27 ธันวาคม ตามเวลาในประเทศไทย
ทั้งนี้ ตลาดการเงินฝั่งยุโรป จะยังคงปิดทำการเนื่องในวันหยุด Boxing Day ทำให้ ปริมาณธุรกรรมในตลาดการเงินอาจเบาบางลงต่อเนื่อง และควรที่ผู้เล่นในตลาดจะเตรียมพร้อมรับมือความผันผวนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับเป้าสิ้นปีของเราที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ถึงจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของเงินบาท อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลต่อทิศทางเงินบาทได้พอสมควร นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังเป็นฝั่งทยอยขายสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อได้ แต่แรงขายอาจลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าพอสมควร โดยแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงระหว่างวัน ก็มีโอกาสทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง แต่โดยรวมเงินบาทก็จะยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ มากดดัน ส่วนโซนแนวรับ ยังคงเป็นช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาด อาทิ บรรดาผู้นำเข้า อาจรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์