แม้ว่าไทยมีการผลิตเหล็กเพื่อใช้ในประเทศ แต่ความต้องการที่ยังสูงกว่ากำลังการผลิต จึงทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะจากจีนจีนเป็นซัพพลายเออร์เหล็กที่สำคัญของไทย ส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็กในจีนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาเหล็กไทย อาทิ การปิดเหมืองแร่เหล็กและโรงงานผลิตเหล็กในจีน จากมาตรการด้านมาตรฐานและสิ่งแวดล้อม การล็อกดาวน์ ทำให้ Supply เหล็กลดลง รวมถึงราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนในการผลิตเหล็กเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปี 2022 ราคาเหล็กมีแนวโน้มปรับตัวลดลง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรุนแรง ทำให้หลายประเทศตื่นตัวกับการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการลด Carbon intensity ของกระบวนการผลิต และอาจส่งผลต่อการส่งออกเหล็กไทย หากยังไม่มีการลดการปล่อย GHGประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก เช่น จีน EU ญี่ปุ่น พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่เกิดจากกระบวนการผลิตเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการผลิต เช่น การปรับเปลี่ยนระบบเตาหลอม การปรับปรุงเทคโนโลยีและเทคนิคการผลิตโดยใช้ไฮโดรเจน และพลังงานสะอาดหมุนเวียนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มาตรการที่ป้องกันไม่ให้สินค้าที่มีความเข้มข้นของการปล่อย CO2 สูง (Carbon intensity) ที่ผลิตจากประเทศที่ไม่มีข้อกำหนดด้านการปล่อย GHGที่เข้มงวด เข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศ เช่น มาตรการ CBAM ของ EU จะเป็นแรงกดดันให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการผลิตเหล็กทั่วโลก และอาจส่งผลไปถึงสินค้าที่มีส่วนประกอบของเหล็กจากไทยที่ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่เคร่งครัดต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต หากยังไม่มีการปรับปรุงปริมาณการปล่อย GHG จากกระบวนการผลิต
สำหรับประเทศไทย ซึ่งผลิตเหล็กกลางน้ำ และปลายน้ำนั้น การส่งเสริมให้รีไซเคิลเหล็กเพิ่มขึ้น ควบคู่การเปลี่ยนเตาหลอมเป็น EAF จะเป็นกลไกสำคัญในการลดการปล่อย GHGหากประเทศไทยจะลดการปล่อย GHG ด้วยการลดการผลิตเหล็กในประเทศลง และหันไปพึ่งพาเหล็กนำเข้ามากขึ้น จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งผู้ผลิตเหล็กในประเทศ และอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กปริมาณมาก ดังนั้น การรีไซเคิลเหล็ก
เป็นทางเลือกที่ส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรที่ใช้แล้ว ให้กลับมาเกิดประโยชน์ใหม่ได้ รวมถึงการเปลี่ยน หรือ ปรับปรุงเทคโนโลยี และเทคนิคการผลิต เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องลงทุน เพื่อปรับตัวลด Carbon intensity โดยเตาหลอม EAF จะช่วยลดอุปสรรคจากการหาเศษเหล็กที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถรีไซเคิลเศษเหล็กที่มีคุณภาพแตกต่างกันในปริมาณมากขึ้นการกำหนดเกณฑ์ความเข้มข้นของ GHG จากการผลิตเหล็กให้ชัดเจน จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทย รวมถึงภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในการผลิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ภาครัฐควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของการเป็น Green steel จากปริมาณความเข้มข้นของ GHG ที่ปล่อยออกมาจากการผลิตเหล็กให้ชัดเจน เพื่อให้มีมาตรฐานตัวชี้วัดสำหรับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเหล็ก อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนค่อนข้างสูง และผู้ผลิตเหล็กไทยบางส่วนยังไม่มีความพร้อมสำหรับการลงทุน ภาครัฐจึงควรออกมาตรการส่งเสริมให้ผู้ผลิตเหล็กสามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี สนับสนุนทางด้านการเงิน ยกเว้นภาษีนำเข้าหากมีการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักร ส่งเสริมกลไกการระดมทุนผ่าน Green bond หรือ Sustainability bond รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้เหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กไทยควรใช้โอกาสในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ในหลายประเทศต่างก็เริ่มดำเนินมาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อม เร่งวางแผนการดำเนินธุรกิจ ลดการใช้พลังงาน และ Carbon intensity ในกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้สอดคล้องไปกับกระแส Net zero บทวิเคราะห์โดย…https://www.scbeic.com/th/detail/product/steel-230822
ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
วรรณโกมล สุภาชาติ, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com Line : @scbeic