กสิกรไทยเป็นตัวแทนสถาบันการเงินภาคเอกชนไทย ร่วมการประชุมสุดยอดสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council Summit Week) เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และร่วมการเสวนาหัวข้อ Decarbonizing Southeast Asia: Charting ASEAN’s Pathway to a Net-Zero Future แลกเปลี่ยนมุมมอง บทบาท แนวคิดของภาคเอกชน ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของแรงขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) พร้อมเชิญชวนกลุ่มประเทศอาเซียนจับมือกันทำเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Decarbonization ให้เป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาค สร้างมาตรฐานร่วมกัน ผลักดันการเกิด ASEAN Taxonomy
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นตัวแทนสถาบันการเงินภาคเอกชนไทย เข้าร่วมงานสัปดาห์การประชุมสุดยอดสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ระหว่างวันที่ 1-6 กันยายน 2566 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยภายในงานมีกิจกรรม การประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit หรือ ABIS 2023) ที่จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “ASEAN Centrality: Innovating Towards Greater Inclusivity” มีตัวแทนทั้งจากภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ ผู้นำ และผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจทั่วโลกกว่า 2,000 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้ผู้นำธุรกิจได้มีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับผู้กำหนดนโยบาย
นอกจากนี้ ธนาคาร ยังได้เข้าร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ Decarbonizing Southeast Asia: Charting ASEAN’s Pathway to a Net-Zero Future เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง บทบาท แนวคิดของภาคเอกชน ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของแรงขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) รวมถึงแนวทางการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ด้านการธนาคาร ที่จะผลักดันให้ธนาคารและลูกค้าทุกภาคส่วน คำนึงถึงการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความยั่งยืนในระดับภูมิภาค โดยแสดงมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกชนิด อื่น ๆ สู่ชั้นบรรยากาศ หรือ Decarbonization ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละประเทศในการปรับตัว ทั้งด้านการเงิน ความสามารถทางเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ประเทศที่มีความพร้อม เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศจีน จะเป็นผู้กำหนดแนวทางและกฎเกณฑ์ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนมากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความพร้อมที่แตกต่างกัน แต่ยังพึ่งพากันได้ดีผ่านการค้าและการลงทุน ด้วยมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN intra-trade) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 23%
ภายใต้บริบทดังกล่าว กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถหาโอกาสใหม่ ๆ ร่วมกัน โดยการสร้างความร่วมมือเพื่อทำให้ Decarbonization เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในระดับภูมิภาค (Regional Progressive Dialogue) และสอดรับกับพลวัติการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้น โดยการสร้างมาตรฐานการทำงานด้าน Decarbonization เดียวกัน ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) ที่แต่ละประเทศสามารถเติมเต็มแหล่งทรัพยากรซึ่งกันและกันได้ และโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน (Soft Infrastructure) เช่น การกำหนดให้มี ASEAN Taxonomy ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องของ Decarbonization ในกลุ่มประเทศอาเซียน แล้ว จะสามารถทำให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนในระดับเวทีโลกเช่นกัน
ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันของภาคธุรกิจในอาเซียน เรื่องการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (Large Corporates) มีความสามารถในการปรับตัว และปฏิบัติตามกติกาในระดับนานาชาติได้อย่างทันท่วงที ด้วยความพร้อมด้านทรัพยากร เทคโนโลยี เงินทุน และความรู้ ขณะที่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ยังไม่สามารถปรับตัวได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ต้องมีการช่วยเหลือจากรัฐบาลและธนาคาร หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multi Development Banks) เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเอาตัวรอดได้ สุดท้ายในส่วนของกลุ่มลูกค้ารายย่อย ก็ต้องมีการผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้ และสร้างแนวคิดที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดระบบคุณค่าใหม่ (New Value System) ที่จะคอยผลักดันให้เอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
นายพิพิธ กล่าวในตอนท้ายว่า การส่งเสริมการสร้างมาตรฐานร่วมกันด้าน Decarbonization ในภูมิภาคเศรษฐกิจอาเซียน ถือเป็นการตอกย้ำแนวคิดการทำงานตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ของธนาคารกสิกรไทย ที่พร้อมจะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยธนาคารจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดันลูกค้า ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Decarbonization ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ธนาคารกสิกรไทยมีที่ตั้งอยู่ เพื่อให้เป็นตามนโยบายเป้าหมาย Net Zero Commitment ของแต่ละประเทศต่อไปในอนาคต
Post Views: 119