“ธนาคารกรุงไทย” เผยผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2566 เท่ากับ 10,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้รวมที่ขยายตัวได้ดี การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ เดินหน้าดูแลลูกค้าทุกกลุ่มรับมือความท้าทายเศรษฐกิจ ชู 7 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กร “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน”

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทาย จากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายกลับเข้าสู่     ภาวะปกติหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายใต้สภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ  โดยธนาคารดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มเพื่อให้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือความท้าทายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและ SME ที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566  เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 10,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0 จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ร้อยละ 18.8 จากพอร์ตสินเชื่อที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานขยายตัวจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการแก่ลูกค้า ทำให้ Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 38.70 ลดลงจากร้อยละ 41.25 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาลที่ Cost to Income Ratio ในไตรมาสอื่นจะสูงขึ้นกว่าไตรมาส 1

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน รวมทั้งเงินเฟ้อซึ่งแม้ว่าจะเริ่มลดลงแต่ยังคงอยู่ระดับที่สูง และยังคงรักษา Coverage Ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 183.2 เทียบกับร้อยละ 179.7 เมื่อสิ้นปี 2565 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) ร้อยละ 3.22 ลดลงจากสิ้นปี 2565

            เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 โดยกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ทั้งรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 13.0 ส่วนหนึ่งเนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2565 มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เช่น การส่งเสริมการตลาด ทั้งนี้ ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพื่อยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 183.2 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

            ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.55 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 19.75 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอ โดยมี Liquidity Coverage ratio (LCR) ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 180 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

ในปี 2566 ธนาคารดำเนินธุรกิจภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก ตามแผนงาน 5 ปี (2566-2570) เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน” เพื่อให้ธนาคารเติบโตอย่างมั่นคง ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ทั่วถึง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มุ่งสร้างโอกาสให้คนไทย ธุรกิจไทยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม