ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อก้าวสู่ท่าเรือสีเขียว หรือ Green Port หนุนเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย พร้อมสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการใน 3 กลุ่ม “รถบรรทุกไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และการขนส่งสินค้าทางราง” สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องหลักพันล้านบาทต่อปี
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมประจำปีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั่วโลกตระหนักถึงการลดมลพิษจากการขนส่งสินค้าทางเรือมากขึ้น โดยประเทศต่างๆ ตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งทางเรือลง 20% ภายในปี 2573 และ 100% ภายในปี 2593 ซึ่งหนึ่งในแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งสินค้าทางเรือ คือ แนวทางท่าเรือสีเขียว หรือกระบวนการจัดการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “สำหรับไทย ท่าเรือแหลมฉบัง มีการเตรียมแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับแนวทางท่าเรือสีเขียว ภายใต้แผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ 1. การพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก 0.794 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) และ 2. การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก 0.41 MtCO2e โดยมองว่า โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”
ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า 3 แนวทางหลักในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือสีเขียวจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในท่าเรือได้อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ 1. การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) หากท่าเรือแหลมฉบังเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซลสูงถึง 50 ล้านลิตรต่อปี หรือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงราว 800 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 4.8 หมื่นตัน CO2e ต่อปี นอกจากนี้ หากท่าเรือแหลมฉบังมีการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าของรถบรรทุกไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากกระบวนการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จะใช้ระยะเวลาเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น
- 2.การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์โดยคาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะเพิ่มขึ้นจาก 8.5 ล้านหน่วยไฟฟ้า ในปี 2568 เป็น 26.9 ล้านหน่วยไฟฟ้า ในปี 2579 หรือขยายตัวเฉลี่ย 11.1%CAGR ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาราว 600 ล้านบาท และสามารถลดก๊าซ CO2 เฉลี่ยปีละ 4.9 พันตัน CO2e 3. การเปลี่ยนระบบการขนส่งตู้สินค้าเป็นทางรถไฟมากขึ้น โดยท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีแผนจะพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 6 ล้าน TEU ต่อปี ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังยังมีความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าถึง 5.3 ล้าน TEU ต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งราว 1.2 พันล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 0.79 ล้านตัน CO2e ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายจากการพัฒนาการขนส่งทางรางของท่าเรือแหลมฉบังของภาครัฐ
นางสาวสุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาท่าเรือสีเขียวนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 แล้ว ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย โดยการเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้า จำนวน 1,000 คัน และการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จะสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่อย่างน้อยราว 1.8 หมื่นล้านบาท ตลอดอายุการใช้งาน 20 ปี ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จะส่งผลบวกโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดยเฉพาะธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประมาณ 600 ล้านบาท ในช่วงปี 2567-2578 ส่วนการเปลี่ยนระบบการขนส่งเป็นทางรถไฟมากขึ้น จะทำให้ธุรกิจขนส่งทางรถบรรทุกที่สนับสนุนการขนส่งทางราง และธุรกิจผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าได้รับประโยชน์ ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงควรศึกษาและเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาท่าเรือสีเขียวของไทยอย่างยั่งยืน