ด้วยวิถีชุมชนที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมดั้งเดิมของ ชุมชนตะเคียนเตี้ย ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นที่รู้จัก ในฐานะ “แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี
ชาวบ้านในชุมชนตะเคียนเตี้ย ส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญเพื่อเลี้ยงชีพ เมื่อโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มคืบคลานขยับขยายเข้ามา ทำให้พื้นที่เพาะปลูกในชลบุรีลดลง ชาวบ้านจึงรวมตัวกันอนุรักษ์สวนมะพร้าวชุมชนตะเคียนเตี้ย ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายของภาคตะวันออก พัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้คู่ชุมชน โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องผ่านโครงการ “กรุงไทยรักชุมชนตะเคียนเตี้ย” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนไปสู่ความยั่งยืน เพื่อเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรในชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านความรู้ทางการเงิน โดยจัดอบรมการวางแผนทางการเงิน การลงบัญชี รายรับ-รายจ่าย แนะนำผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร เปิดบัญชี ใช้ QR Code และจัดทำสมุดบัญชี ด้านพัฒนาสินค้า ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แปรรูปผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้สินค้าได้รับเลขที่จดแจ้งและมาตรฐานอย. ด้านการตลาด ส่งเสริมการขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของธนาคาร ด้านบริหารจัดการ จัดอบรบให้ความรู้เรื่องการตลาด ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในชุมชน บวกแรงสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย ทำให้วันนี้ชุมชนตะเคียนเตี้ย ประสบความสำเร็จ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่นักท่องเที่ยวต้องปักหมุดมาสักครั้ง ผลิตภัณฑ์ชุนชนล้วนแล้วแต่มีคุณภาพ ทั้งน้ำมันมะพร้าวสะกัดเย็น กาแฟมะพร้าว การันตีด้วยรางวัลด้านการท่องเที่ยว เช่น รางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวสำหรับจัดกิจกรรมเอาท์ติ้ง
“ชุมชนตะเคียนเตี้ย” เต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนแห่งนี้ เพื่อสัมผัสวิถีชุมชน โดยร่วมทำกิจกรรมเรียนรู้วิถีของชาวสวนมะพร้าว พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้านเยี่ยมชม “บ้านร้อยเสา” บ้านไม้แฝด อายุกว่า 100 ปี มีเสารวม 102 ต้น ซึ่งเป็นแหล่งรวมมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน อาทิ ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ของชุมชน พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เยาวชนมาเรียนรู้วิถีท้องถิ่น ลิ้มรสอาหารพื้นบ้านที่นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรุงเป็นอาหารรสเลิศ เช่น แกงไก่กะลา ผัดฉ่ากะลาอ่อนกุ้งสด ดื่มน้ำมะพร้าวสดด้วยหลอดก้านมะละกอรักษ์โลก จิบกาแฟมะพร้าว กิจกรรมทำผ้ามัดย้อมจากเปลือกมะพร้าว เรียนรู้การทำพวงมโหตร เครื่องแขวนโบราณที่ทำจากกระดาษสีต่างๆ และทำกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายดอกไม้ ซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ชุมชนยังคงอนุรักษ์ไว้ เรียนรู้ขั้นตอนการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และสบู่มะพร้าว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดาวเด่นของชุมชน
ความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนตะเคียนเตี้ยในวันนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเติบโตไปพร้อมทุกภาคส่วนของสังคมอย่างยั่งยืน ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และตอบโจทย์กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของ UNDP เป้าหมายที่ 1 ในด้านการขจัดความยากจน การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ เป้าหมายที่ 8 การมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน และเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”