ธนาคารกรุงไทย เผยมีผู้ประกอบการ SME ทำวิจัยและพัฒนาสินค้าเพียง 0.2% ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากขาดบุคลากร เครื่องมือและข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี มีต้นทุนสูง แม้การทำวิจัยและพัฒนาสามารถช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสรอดให้กับธุรกิจ แนะเริ่มต้นทำวิจัยและพัฒนา โดยหาไอเดียจากปัญหากวนใจผู้บริโภคก่อน จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ชี้ขอรับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้จากหน่วยงานรัฐ และสินเชื่อพิเศษจากสถาบันการเงินชั้นนำ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าการทำวิจัยและพัฒนา หรือ R&D จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมทางสินค้า ลดต้นทุนการผลิต อันนำไปสู่การเพิ่มรายได้และโอกาสรอดของธุรกิจ แต่จากการทำบทวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการ SME จำนวน 3 ล้านราย มีเพียง 5 พันรายเท่านั้นที่ทำ R&D หรือคิดเป็น 0.2% โดยปัญหาเกิดจาก 3 อุปสรรค คือ ขาดบุคลากรและเครื่องมือ เข้าไม่ถึงข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ และต้นทุนการทำ R&D ที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการหลายรายพบทางออกและประสบความสำเร็จผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ
“งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า แม้บริษัทจะลงทุนด้าน R&D ไม่มาก แต่หากสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ตรงจุดและรวดเร็ว จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ถึง 6–23% ดังนั้น จึงอยากแนะนำว่า การทำ R&D ควรเริ่มหาไอเดียจาก Pain Point หรือปัญหากวนใจในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจและคิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ ประกอบกับการทำ R&D จะทำให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่นและลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น ที่ผ่านมาบ่อยครั้งมี SME ทำ R&D แล้วประสบความสำเร็จมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ”
ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการ ผู้ร่วมทำบทวิจัย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับความช่วยเหลือด้านบุคลากรและเครื่องมือจากศูนย์วิจัยของสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยเฉพาะอุตสาหกรรม และศูนย์วิจัยจากหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เช่น สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยการสนับสนุนมี 4 ระดับ ได้แก่ ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ให้ใช้เครื่องมือ ทีมวิจัย หรือสถานที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาสินค้าตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้ ยังสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรืองานวิจัยใหม่ๆทางออนไลน์ ที่ www.thailandtechshow.com ที่รวบรวมผลงานวิจัยจาก สวทช. นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
“อุปสรรคด้านต้นทุนที่สูงเกินไป มีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ที่พร้อมสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของสวทช. วงเงินกู้สูงสุด 30 ล้านบาท โครงการนวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย โครงการ Startup&Innobiz วงเงินกู้สูงสุด 40 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ เช่น มีบริษัทนำคำปรึกษาจากสถาบันอาหารไปต่อยอดไอเดียจนผลิตขนมข้าวกล้องไทยส่งขายต่างประเทศ ได้เทคโนโลยีจาก สวทช. ไปผลิตแป้งมันสำปะหลังไร้กลูเตนเจ้าแรกของไทย ได้ทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มาร่วมผลิตเทคโนโลยีลดน้ำตาลในน้ำผลไม้ด้วยจุลินทรีย์ หรือได้พี่เลี้ยงจากอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ช่วยทำเก้าอี้ทำฟันโดยใช้พลังงานจากลม เป็นต้น”
Post Views: 752