นายเซอิจิโระ อาคิตะ (กลาง) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) พร้อมด้วยนางสาวดวงดาว วงค์พนิตกฤต (2 จากซ้าย) ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ (2 จากขวา) ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายสยาม ประสิทธิศิริกุล (ซ้ายสุด) ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และนายประกอบ เพียรเจริญ (ขวาสุด) ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2566 เน้นให้ความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทั้งในองค์กรตลอดจนพันธมิตรและลูกค้า โดยปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันปี 2564 – 2566 ที่กรุงศรีมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

 กรุงเทพฯ  – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2566 เน้นให้ความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทั้งในองค์กรตลอดจนพันธมิตรและลูกค้า โดยปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันปี 2564 – 2566 ที่กรุงศรีมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน” ผ่านกลยุทธ์สามด้าน ได้แก่ การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Linked Business) ผ่านนวัตกรรมบริการด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG (ESG-Linked Business) เพื่อเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดของประเทศไทยรวมถึงการเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน และการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital & Innovation) ด้วยการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อลูกค้าทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่นเรื่องของการเชื่อมโยงโครงข่ายในอาเซียนสู่ตลาดหลัก ๆ ในภูมิภาค การเติบโตอย่างแข็งแกร่งแม้ในช่วงท้าทายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ความยืดหยุ่นในการปรับตัว และพัฒนาการที่สำคัญสู่เป้าหมายด้าน ESG สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2564-2565 ที่เราเชื่อมั่นว่าจะเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งให้กรุงศรีสามารถเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนเพื่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และในปีนี้จะเป็นปีที่ทุกคนจะได้เห็นการยกระดับตำแหน่งของกรุงศรีในอาเซียน ในการดำเนินธุรกิจบนแนวทาง ESG และในการต่อยอดความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของธุรกิจ”

 นายเซอิจิโระ อาคิตะ

ความสำเร็จในปี 2564-2565

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก กรุงศรียังคงยึดมั่นให้การดูแลช่วยเหลือในเชิงรุกแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และยังคงมีลูกค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ คิดเป็นเงินให้สินเชื่อคงเหลือกว่า 150,000 ล้านบาท และอีกกว่า 16,000 ล้านบาทในรูปของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจ อีกทั้งกรุงศรียังมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยยอดสินเชื่อรวมเติบโตเพิ่มขึ้น 3.1% และความสามารถในการทำกำไร (NIM) ที่ 3.45%  ในช่วงสองปีแรกของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน กรุงศรีได้ยกระดับโครงข่ายอาเซียนอย่างแข็งแกร่งด้วยการขยายกิจการในต่างประเทศทั้งในประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ขณะที่ธุรกิจในประเทศกัมพูชา และสปป.ลาว ก็ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดี ส่งผลให้กรุงศรีสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 150,000 ราย ผ่านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) และการร่วมเป็นพันธมิตร (Partnership)  นอกจากนี้ กรุงศรียังได้ขยายกิจการไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือทางธุรกิจกับ SB Finance ประเทศฟิลิปปินส์ และ SHB Finance ในประเทศเวียดนาม ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงในประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง สถานะของ Hattha Bank ในประเทศกัมพูชาเองก็มีการยกระดับขึ้นสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์  ในด้านภาพรวมผลประกอบการ กรุงศรีมีรายได้สุทธิจากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2563 เป็น 6% ในปี 2565

ในฐานะที่เป็นผู้นำในธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน กรุงศรีเดินหน้าต่อยอดเพื่อบรรลุพันธกิจด้าน ESG พร้อมวิสัยทัศน์ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน  โดยโครงการต่าง ๆ ที่กรุงศรีริเริ่มและประสบความสำเร็จระหว่างปี ประกอบไปด้วย โครงการ Krungsri x SET ‘Care the Whale’  โครงการ Zero Food Waste และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ RE100 Thailand Club หรือสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย

การยกระดับฐานะของกรุงศรีในภูมิภาคอาเซียน

ต่อยอดจากรากฐานที่มั่นคงในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2566  กรุงศรีตั้งเป้าที่จะผนึกกำลังธุรกิจต่าง ๆ ในอาเซียนภายใต้กลยุทธ์ One Krungsri เพื่อสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าในประเทศไทยและอาเซียน ด้วยเป้าหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดบริการทางการเงินที่สำคัญ อาทิ บริการโอนเงิน การลงทุนในต่างประเทศ บริการที่ปรึกษา และบริการอื่น ๆ อย่างบัตรเครดิตที่จะเข้าถึงผู้ใช้มากขึ้นด้วยการนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งขับเคลื่อนเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายในการสร้างรายได้สุทธิจากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนให้เป็น 10%

ยกระดับสถานะของกรุงศรีในด้านความยั่งยืน (ESG)

ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย กรุงศรีประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 โดยธนาคารจะยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ในปี 2566 นี้ด้วยการสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านและดำเนินงานตามแนวทาง ESG ผ่านหลากหลายโครงการสำหรับลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ในส่วนของภาคธุรกิจ ยังรวมถึงการให้เงินสนับสนุนกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงาน เช่น หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์  จุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทน  อีกทั้งสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน สินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อสังคม และธุรกิจเพื่อความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ  ในส่วนของรายย่อย การให้สินเชื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า  การให้สินเชื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม และกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG จะได้รับการเสนอให้กับลูกค้า  ภายใต้การประกาศวิสัยทัศน์ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของกรุงศรี ธนาคารมีเป้าหมายจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนเป็น 50,000 – 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573

 สร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม

การลงทุนต่อเนื่องในโครงการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จของกรุงศรีจะทำให้ธนาคารเพิ่มการสนับสนุนความเชื่อมโยงอาเซียนในวงกว้างผ่านการส่งเสริมการชำระและการโอนเงินข้ามประเทศ โดยในประเทศไทยได้มีการเปิดโครงการนำร่องสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลกลาง (CBDC) ภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่จะเปลี่ยนอนาคตของการชำระเงินดิจิทัล  ด้วยความเชี่ยวชาญและความพร้อมจึงทำให้กรุงศรีเป็นหนึ่งในสองธนาคารพาณิชย์ของไทยที่ได้รับเลือกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในการเข้าร่วมโครงการนำร่องสกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชนที่ออกโดยรัฐบาลกลาง ทั้งนี้ ประสบการณ์ของลูกค้ายังถือเป็นสิ่งสำคัญสุดสำหรับการพัฒนานวัตกรรม กรุงศรีมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงแอปบนมือถือที่มีไม่ว่าจะเป็น KMA-Krungsri Mobile App, UCHOOSE และ GO เพื่อช่วยให้ผู้ใช้มีชีวิตที่ง่ายยิ่งขึ้น นับเป็นส่วนหนึ่งของโร้ดแมปแผนงานพัฒนาระยะยาวเพื่อสนับสนุนอนาคตของการธนาคารและการปรับพัฒนาด้านความปลอดภัยของแอปและดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย

เพื่อเป็นการดึงดูดผู้มีความสามารถ (Talent) และขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทยที่สอดรับกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ  กรุงศรีได้ลงทุนสร้างออฟฟิศที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่เพื่อดึงดูดทีมงานที่มีศักยภาพสูงด้านไอที อีกทั้งการขยายธุรกิจในอาเซียนยังเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารได้เข้าถึงบุคลากรมากความสามารถ โดยกรุงศรีได้เปิด Innovation Hub ศูนย์กลางนวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชนสายเทคนำร่องในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มบุคลากรมากความสามารถในสายเทคและสร้างพื้นที่เปิดให้คนได้มาแบ่งปันไอเดียและได้รับโอกาสทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของกรุงศรี

“ปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายจากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลักกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลจากการเปิดประเทศของจีนที่ยังคงไม่ชัดเจนนัก แต่อุปสงค์ในภาคบริการน่าจะเติบโตเร็วขึ้นกว่าอุปสงค์ต่อสินค้า การเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนชะลอตัวลงอยู่ที่ 4.9% ในปี 2566 จาก 5.3% ในปี 2565 แต่ยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด  นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมีการเติบโตที่ดี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีที่รวมถึง RCEP และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามา  ด้วยกลยุทธ์ของกรุงศรี เราหวังที่จะก้าวข้ามความ ท้าทายเหล่านี้ไปได้ และจะอาศัยข้อได้เปรียบจากโอกาสต่าง ๆ ที่มีในอาเซียนโดยการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป และเสนอโซลูชันที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยทั่วภูมิภาค” นายอาคิตะ กล่าวเสริม

 กรุงศรีคาดว่าในปี 2566 เงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.5% ซึ่งคาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) จะยังอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.5-2.6%