GPSC เปิด 3 ผลงานนวัตกรรมของเยาวชนไทยเวที GPSC Young Social Innovator 2021 Season 4 คว้ารางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา หนุนส่งผลงานเข้าประกวดเวทีนานาชาติต่อเนื่อง หลังกวาดรางวัลในเวทีโลก 14 รางวัล ตลอด 3 season ที่ผ่านมา สะท้อนความสามารถเยาวชนไทยก้าวสู่นักพัฒนานวัตกรรม สร้างสรรค์ผลงาน รู้คุณค่าการใช้ทรัพยากร ต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ สู่การใช้จริง 

           นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ    บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ประกาศผลการคัดเลือกโครงงานสิ่งประดิษฐ์ภายในโครงการ GPSC Young Social Innovator 2021 (GPSC YSI) ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4  ภายใต้แนวคิด“พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment)” จากทีมที่ได้ส่งผลงานเข้าประกวดการแข่งขันจากทั่วประเทศในปีนี้กว่า 450 ทีม ใน 3 ประเภทการประกวด ได้แก่  ประเภทผลิตภัณฑ์  ประเภทสิ่งประดิษฐ์  และประเภทกระบวนการและวิธีการ จากการต่อยอดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมท้องถิ่น และสามารถพัฒนาต่อยอดและใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยในปีนี้มีโรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท เข้ารับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท 3 รางวัล นับเป็นความภาคภูมิใจของเยาวชนไทยที่ร่วมส่งสุดยอดผลงานเข้าร่วมการประกวดกันในครั้งนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังพร้อมให้การสนับสนุน จัดส่งผลงานนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ของเยาวชนไปสู่เวทีการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป

GPSC โชว์ 3 ผลงานชนะเลิศเยาวชนนักประดิษฐ์ คว้ารางวัลถ้วยพระราชทานฯ โครงการ GPSC YSI Season 4 แหล่งสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ผงาดเวทีโลก

           สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประกอบด้วย

  1. รางวัลชนะเลิศ ประเภทผลิตภัณฑ์ ได้แก่

           ทีม YSI18P : ศรราม 2 โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล

                       ชื่อผลงาน ไคโตซานกับการพัฒนาผ้าพื้นเมือง

  1. รางวัลชนะเลิศ ประเภทสิ่งประดิษฐ์ ได้แก่

      ทีม YSI27I : Fingerprint lifter โรงเรียน อนุกูลนารี

                      ชื่อผลงาน วัสดุลอกลายพิมพ์นิ้วมือจากพอลิเมอร์ธรรมชาติ

  1. รางวัลชนะเลิศ ประเภทกระบวนการ & วิธีการ ได้แก่

      ทีม YSI04S : PCSHS PHETCHABURI

      โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี

ชื่อผลงาน สารปรับปรุงและควบคุมคุณภาพน้ำสำหรับเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเขตร้อนจากแทนนินสกัดของใบหูกวาง

          นายศิริเมธกล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ได้มอบรางวัล เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเยาวชนที่เข้ารอบรองชนะเลิศ จำนวน 30 ทีม โดยจะได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 8 โรงเรียน เหรียญเงินจำนวน 12 โรงเรียน และเหรียญทองแดงจำนวน 6 โรงเรียน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาศักยภาพในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความคุ้มค่า และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์สังคมในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นด้วยผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากทั่วโลก    การดำเนินโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้เยาวชนไทย ให้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเองอย่างรู้คุณค่า และเกิดประโยชน์นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของ GPSC ในการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่ไปกับนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

        อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการ GPSC YSI ตลอดระยะเวลาทั้ง 3 season ที่ผ่านมา เยาวชนไทยสามารถส่งผลงานเข้าแข่งขันระดับสากล กระทั่งได้รับการยอมรับ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ด้วยการคว้ารางวัลระดับนานาชาติ มากกว่า 14 รางวัล ในเวทีต่าง ๆ อาทิ เวที Seoul International Invention Fair, เวที World Invention Innovation Contest ณ สาธารณรัฐเกาหลี, เวที International British Innovation, Invention, Technology Exhibition หรือ IBIX 2020 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และ The 32nd International Invention, Innovation and Technology Exhibition (ITEX 2021) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อีกทั้งยังสามารถผลักดันตนเองก้าวไปสู่ความสำเร็จหลังจากที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการนำผลงานที่สร้างขึ้น ไปพัฒนาปรับใช้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในวงกว้างต่อไป