ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) จัดพิธีปิดโครงการ “เสริมทักษะเขียนโค้ด นักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ทันยุคดิจิทัล” พร้อมมอบเกียรติบัตรและทุนการศึกษาแก่นักเรียนและจิตอาสา ที่ได้รับคัดเลือกเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายจากคณะกรรมการตัดสินการประกวดผลงานการเขียนโค้ด โดยมีนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ พร้อมด้วยผู้บริหารไอแบงก์ในพื้นที่ และนายถาวร เสนเนียม ประธานที่ปรึกษา โรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ – หาดใหญ่ ตลอดจนนักเรียน จิตอาสา และคณะครูอาจารย์โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รวม 60 คน ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องประชุม โรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ – หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดพิธีปิดโครงการ “เสริมทักษะเขียนโค้ด นักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ทันยุคดิจิทัล” ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะพิจารณาความสำเร็จหลังจากที่ธนาคารได้เปิดโครงการดังกล่าวร่วมกับนางสาวพาริมา ชูพึ่งอาร์ต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนฟิลิปส์ อคาเดมี ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้ง STEPS (Southern Technology Education Program for Students) ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปิดอบรมเสริมทักษะการเขียนโค้ดแก่นักเรียนรุ่นแรกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีนักเรียน 260 คน จาก 6 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา โรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา และ โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา จังหวัดปัตตานี โรงเรียนนราธิวาส โรงเรียนนราสิกขาลัย และโรงเรียนดารุสสาลาม ในจังหวัดนราธิวาส ผ่านความร่วมมือจาก 3 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่จัดส่งนักศึกษามาเป็นเทรนเนอร์จิตอาสาจำนวน 11 คน เพื่อถ่ายทอดหลักสูตรระยะสั้น 10 บทเรียนเป็นเวลา 10 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ code.org ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
นอกจากนี้ โครงการยังจัดให้นักเรียนและจิตอาสาทั้ง 271 คน ได้จัดทีมเพื่อส่งผลงานการเขียนโค้ดดิ้งด้วย code.org ที่สามารถนำเนื้อหาแนวคิดเกี่ยวกับการเงิน การออม มาประยุกต์ รวม 52 ทีม โดยมีทุนการศึกษาสำหรับทีมที่ได้รับการคัดเลือก 5 ทีมในรอบสุดท้ายจากคณะกรรมการตัดสินของโครงการ จากทีมที่ถูกนำเสนอจากจิตอาสา 11 ทีมในรอบแรก และวันนี้ผลการตัดสินทีมนักเรียนและจิตอาสาที่ได้รับทุนการศึกษาทั้ง 5 ทีม มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา โดยมีจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา โดยมีจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส โดยมีจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา จังหวัดปัตตานี โดยมีจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา จังหวัดปัตตานี โดยมีจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
สำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่ไม่ได้รับทุนการศึกษาในวันนี้ ก็จะได้รับเกียรติบัตรสำหรับผู้ที่เข้าการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนชั่วโมงรวม และได้รับความรู้และความเข้าใจในการเขียนโค้ดดิ้ง เพื่อจะสามารถนำไปพัฒนาความคิดอย่างเป็นระบบ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อยอดการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมต่างๆ ได้ในอนาคต ซึ่งโครงการนี้จะขับเคลื่อนสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ทั้ง 6 โรงเรียน ผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษาทั้ง 271 คน ผมต้องขอขอบคุณที่ทุกคนผลักดันและสนับสนุนโครงการนี้ไปด้วยกัน และที่สำคัญโรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ – หาดใหญ่ ที่สนับสนุนสถานที่ปิดโครงการ นายทวีลาภ กล่าวทิ้งท้าย