องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 55 ปีของการปกป้องสัตว์ในภาวะภัยพิบัติทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นในการก่อตั้ง “องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก”
ซึ่งในขณะนั้นดำเนินการภายใต้ชื่อ สมาคมนานาชาติเพื่อการป้องกันการทารุณสัตว์ เมื่อกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
โดย John Walsh ผู้ก่อตั้งและหนึ่งในทีมงานรุ่นใหม่ได้เข้าร่วม “ปฏิบัติการกวัมบา” ภารกิจเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือสัตว์กว่า 10,000 ตัว จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ร่วมกับหน่วยงานกู้ภัยของสาธารณรัฐซูรีนามในทวีปแอฟริกาใต้ ซึ่งไม่มีองค์กรใดเข้าให้การช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้นเลย ตามคำกล่าวของเขาที่ว่า “หนึ่งในกฎเหล็กของเราในการเลือก
โครงการสมัยนั้นก็คือ เราจะต้องทำความดีให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ช่วยเหลือสัตว์จำนวนมากที่สุด และให้ได้นานที่สุด”
ตลอดระยะเวลากว่า 55 ปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เข้ามามีบทบาทในการรับมือกับเหตุภัยพิบัติมากกว่า 250 ครั้ง ได้ทำการช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ไปมากกว่า 8 ล้านตัวทั่วโลก จากเหตุการณ์อันยากจะคาดเดาทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ ไต้ฝุ่น ทอร์นาโด ภูเขาไฟระเบิด พายุไซโคลน และอุบัติเหตุเรือล่ม ผ่านเครือข่ายรองรับเหตุภัยพิบัติที่กระจายครอบคลุมอยู่ทั่วโลก ซึ่งมีความพร้อมที่จะส่งออกไปในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเข้าถึงจุดที่มีภัยพิบัติ
ที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้หลายแห่งอย่างทันท่วงที รวมไปถึงบริเวณเขตสงครามอย่างพื้นที่ของประเทศบอสเนีย รวันด้า และอัฟกานิสถานด้วย
คาดกันว่าประชากรที่ยากจนที่สุดของโลกกว่าหนึ่งพันล้านคนต้องพึ่งพาสัตว์เลี้ยงสำหรับเป็นแหล่งอาหาร พาหนะขนส่งและเพื่อการดำรงชีวิต หากเมื่อใดก็ตามสัตว์เลี้ยงเกิดการล้มตายในภาวะภัยพิบัติ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนที่ต้องอาศัยสัตว์เหล่านั้นทั้งในฐานะสัตว์เลี้ยงหรือแหล่งรายได้เพื่อการดำรงชีพของพวกเขา
ดังนั้นทีมงานกู้ภัยขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงเข้าให้การช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงและเหล่าปศุสัตว์ โดยจัดหาอาหาร น้ำดื่ม การดูแลทางการแพทย์ และความช่วยเหลือฉุกเฉินอื่นๆ ให้กับสัตว์ที่ประสบภัย รวมถึงช่วยอพยพสัตว์ออกจากเขตเสี่ยงภัย และส่งคืนสัตว์เลี้ยงที่พลัดหลงกับเจ้าของในขณะเกิดภัยธรรมชาติ
Gerardo Huertas ผู้อำนวยการใหญ่ของศูนย์ปฏิบัติการภัยพิบัติ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
ผู้ซึ่งมีจิตวิญญาณที่ไม่เคยเกรงกลัวอะไร มีวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ และเคยผ่านการฝึกฝนทักษะจากวอลช์เมื่อกว่า 35 ปี
ที่ผ่านมา เขาถือเป็นแรงผลักดันสำคัญในการดำเนินงานกู้ภัยขององค์กรฯ ได้กล่าวว่า “สัตว์เหล่านั้นคือเหยื่อของภัยพิบัติที่ถูกหลงลืม ในแต่ละปีมีสัตว์นับล้านๆ ตัวต้องทนทุกข์ทรมานและตายลงโดยไม่จำเป็น พวกมันต้องเผชิญ
กับความโหดร้ายของภัยพิบัติเช่นเดียวกับผู้ประสบภัย ทั้งได้รับบาดเจ็บ หิวกระหาย พลัดหลง เจ็บป่วย
และมีความเครียดสะสม การสูญเสียชีวิตสัตว์เลี้ยงไปในภัยพิบัติยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้คนที่ต้องพึ่งพิงสัตว์เหล่านั้น ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อนหรือเพื่อการดำรงวิถีชีวิต ดังนั้นเรามองว่าการปกป้องสัตว์เหล่านั้นคือการช่วยให้ผู้คนได้กอบกู้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขากลับคืนมาอีกครั้งหลังจากภัยพิบัติได้ผ่านพ้นไป หากแต่ในความเป็นจริงแล้วสัตว์เหล่านี้แทบไม่เคยได้รับการเหลียวแลเลย ไม่ว่าจะในแผนการรับมือหรือการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ และแทบไม่เคยได้รับความใส่ใจในปฏิบัติการฟื้นฟูต่างๆ ที่รัฐบาลควรดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ความคุ้มครอง
ทั้งประชาชนและสัตว์เลี้ยง โดยการรวมพวกมันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรับมือภัยพิบัติในอนาคต”
โดยการเฉลิมฉลองครบรอบ 55 ปีครั้งสำคัญนี้ ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังทำการเปิดตัวแคมเปญ “อย่าลืมพวกเขา” หรือ Don’t Forget Them เพื่อจะปฏิบัติงานตลอดทั้งปีในการช่วยผลักดันและสนับสนุน
ให้ประเทศต่างๆ มีการเตรียมความพร้อมและลดความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับคนและสัตว์เลี้ยงของพวกเขา นอกเหนือไปจากงานช่วยเหลือและกู้ภัยในสถานการณ์ต่างๆ ที่เราทำอยู่เดิม พร้อมส่งเสริม
ให้รัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ พันธมิตรทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นให้ความร่วมมือผ่านการรวมเอาสัตว์เลี้ยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน นโยบาย และการปฏิบัติการในการรับมือสภาวะภัยพิบัติ โดยทีมงานกู้ภัยของเราจะทำหน้าที่ดังนี้
- ชักจูง โน้มน้าว และจัดแคมเปญสาธารณะ เพื่อให้มีการรวมสัตว์เลี้ยงเข้าในแผนงานลดความเสี่ยงในเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
- จัดกิจกรรมการฝึกอบรม เพื่อให้ความรู้ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น
- จัดให้มีการอบรมสำหรับองค์กรเครือข่ายกู้ภัยสัตว์เลี้ยง ในเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติ
ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ และหลักสูตร PrepVet ซึ่งเป็นคอร์สการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ที่เราได้พัฒนาขึ้น
- ส่งเสริมให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงในเขตเสี่ยงภัยพิบัติได้เรียนรู้วิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงของพวกเขาเบื้องต้น
แม้ว่าในปัจจุบันการตอบสนองเพื่อช่วยเหลือต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติจะให้น้ำหนักและความสำคัญด้าน
ความต้องการฉุกเฉินของผู้ประสบภัยมาเป็นอันดับต้นๆ ควบคู่การฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในระยะยาว
หลังจากเหตุการณ์เหล่านั้นผ่านพ้นไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะต้องดูแลความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสัตว์เลี้ยงของพวกเขาด้วยเช่นกัน หลังจากความพยายามโน้มน้าวขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเป็นเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ
ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ อาทิ สหประชาชาติ (UN) กาชาด และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต่างออกมาให้การยอมรับมากขึ้นกับข้อเท็จจริงที่ว่า ชุมชนมากมายต่างต้องพึ่งพิงกิจกรรมทางการเกษตร
เป็นหลักในการแสวงหาปัจจัยสี่ รวมไปถึงสร้างหลักประกันที่มั่นคงสำหรับอนาคตของพวกเขาอีกด้วย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง https://www.worldanimalprotection.org/our-work/animals-disasters
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์
ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ดำเนินกิจกรรมเชิงรุกร่วมกับรัฐบาล ชุมชน และผู้คนในการบริหารจัดการภัยพิบัติมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507
พร้อมส่งเสริม เรียกร้องให้รัฐบาลผนวกสัตว์เลี้ยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรับมือเหตุภัยพิบัติ จากการเข้าไปร่วมกู้ภัยกว่า 250 ครั้งในระยะเวลา 55 ปี ให้การช่วยเหลือและกู้ภัยสัตว์เลี้ยงไปมากกว่า 8 ล้านตัว และมีส่วนร่วมในการปรับปรุงชีวิตของสัตว์ต่างๆ ทั่วโลกมานั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ด้วยปัจจัยที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้เสมอ จึงมีการปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง ได้แก่
– ปี พ.ศ. 2493 ก่อตั้ง สมาพันธ์โลกเพื่อการคุ้มครองสัตว์ (The World Federation for the Protection of Animals – WFPA)
– ปี พ.ศ. 2502 ก่อตั้ง สมาคมนานาชาติเพื่อการป้องกันการทารุณสัตว์ (The International Society for the Prevention of Cruelty to Animals – ISPA)
– ปี พ.ศ. 2524 องค์กร WFPA และ ISPA ได้ควบรวมกันเป็นสมาพันธ์โลกเพื่อการปกป้องสัตว์ (World Society for the Protection of Animals)
– ปี พ.ศ. 2557 ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)