บราเดอร์ ไม่หยุดช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ แม้สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ปรับรูปแบบโปรเจควิ่งการกุศล Brother Beat Cancer Run ที่ทำต่อเนื่องมาตลอด 7 ปี สู่การเป็นสะพานบุญเปิดรับบริจาคเพื่อนำเงินมอบแก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ กองทุนมะเร็งโลหิตวิทยาผู้ใหญ่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง นโยบายการดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นหนึ่งในปรัชญาการดำเนินธุรกิจตามพันธสัญญาสากล (Global Charter) ของกลุ่มบริษัทบราเดอร์ทั่วโลก ที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 6 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น พนักงานบริษัท คู่ค้าทางธุรกิจ ลูกค้า สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่นที่บราเดอร์ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจ ในส่วนนี้ บราเดอร์ ได้จัดทำโครงการ Brother Beat Cancer Run ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งโลหิตที่ยากไร้ผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิรามาธิบดีฯ กองทุนมะเร็งโลหิตวิทยาผู้ใหญ่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยทางบราเดอร์ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง 7 ปี และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งยากไร้ได้ถึง 590 คน เราสนับสนุนและปลูกฝังให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น ด้วยความสมัครใจ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเพื่อให้เกิดสังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืนด้วยความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน”นายธีรวุธ กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการที่บราเดอร์ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ Brother Beat Cancer Run ในปีนี้ “ตลอด 7 ปีที่บราเดอร์ ดำเนินโครงการ Brother Beat Cancer Run เราสามารถรวบรวมเงินบริจาคได้กว่า 8 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโลหิตที่ยากไร้ ที่น่าปลื้มใจคือมีคนเข้ามา “ช่วย” ทั้งวิ่ง ทั้งร่วมบริจาคมากขึ้นๆ ในทุกปี โดยในปี 2565 บราเดอร์ก็ยังสานต่อการจัดทำโครงการดังกล่าวภายใต้คอนเซปต์หยุดวิ่ง แต่ไม่หยุดช่วย ที่ต้องการนำเสนอว่าแม้ครั้งนี้จะไม่มีการจัดกิจกรรมวิ่งการกุศล เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ แต่เราก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านั้นได้ดังเดิม เพราะเราเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกหลายคนที่ต้องการอยากจะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งเช่นเดียวกับเรา บราเดอร์จึงได้อาสาเป็นส่วนประสานงานเพื่อส่งผ่านธารน้ำใจเหล่านั้นไปสู่ผู้ป่วยที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ โดยตั้งเป้าเงินบริจาคในปีนี้ไว้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ผ่านการเปิดรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ซึ่งสามารถนำเอกสารการบริจาคไปขอลดหย่อนภาษีได้ด้วย
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สุภร จันท์จารุณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ทั่วไปและอายุรศาสตร์โลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีได้จัดตั้งกองทุนมะเร็งโลหิตวิทยาผู้ใหญ่ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด โดยปัจจุบันแบ่งออกเป็นกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา, กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยกว่า 70% ของผู้ป่วยประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพเฉพาะหรือยาพุ่งเป้า ที่จะช่วยรักษาและทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นนำไปสู่การรักษาขั้นที่ 2 ต่อไปด้วยการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก เพื่อให้เกิดภาวะโรคสงบในระยะยาว โดยเงินบริจาคที่ได้จากโครงการ Brother Beat Cancer Run นั้น ทำให้กองทุนฯ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นประมาณ 100-120 รายต่อปี
“ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือดพัฒนาขึ้นมาก ทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านการวินิจฉัยโรคและดูแลรักษา หากเสริมการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพเฉพาะ ก็ยิ่งทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น เงินบริจาคจากโครงการ Brother Beat Cancer Run ได้ถูกนำมาใช้ในส่วนนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสต่อลมหายใจแก่ผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ให้พร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้นำเงินบริจาคดังกล่าวมาใช้เป็นค่าดำเนินการตรวจเนื้อเยื่อของบุคคลในครอบครัวหรือ Human Leucocyte Antigen (HLA) ว่าสามารถเข้าได้กับผู้ป่วยหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ราคาสูงถึง 50,000 – 100,000 บาท จึงเป็นขั้นตอนที่จำเป็นอย่างยิ่ง หากตรวจสอบว่าเข้ากันได้ผู้ป่วยก็สามารถไปขอยื่นเรื่องเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ไม่สามารถตรวจการเข้ากันของเนื้อเยื่อได้เพราะขาดเงินที่จะใช้ตรวจในส่วนนี้” รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สุภร อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพรวมที่ผู้ป่วยได้รับจากเงินบริจาคของโครงการ Brother Beat Cancer
ขณะที่ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง พิมพ์ใจ นิภารักษ์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดผู้ใหญ่ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดในกลุ่ม ผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รองลงมา ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน, มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง โดยปัญหาที่ผู้ป่วยต้องเผชิญคือราคายาที่ใช้ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดบางชนิดนั้นเป็นยาที่มีราคาแพง รวมถึงความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยานอกบัญชียาหลัก ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับสิทธิข้าราชการและมีรายได้น้อยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษา
“เงินบริจาคที่ได้รับจากโครงการ Brother Beat Cancer Run ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในกองทุนมะเร็งโลหิตวิทยาผู้ใหญ่ได้ถึง 590 คน โดยได้ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งยากไร้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยยาจำเพาะเจาะจงต่อโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอิโลมา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และไขกระดูกเสื่อม ด้วยยาทั้งหมด 9 ชนิด” รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง พิมพ์ใจ กล่าวถึงผลจากเงินบริจาคที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งยากไร้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน สาขา ถนนพระราม 9 เลขที่ 215-3-017377 ชื่อบัญชี บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ทั้งหมดจากกิจกรรมมอบให้มูลนิธิรามาธิบดีฯ กองทุนมะเร็งโลหิตวิทยาผู้ใหญ่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ร่วมบริจาคได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 15 มี.ค. 65 ชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3GXEZPa
#brotherPRnews #brotherbeatcancerrun
สามารถชมข้อมูลบราเดอร์เพิ่มเติมได้ที่
https://www.brother.co.th/th-th
https://www.facebook.com/BrotherCommercialThailand/
หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Brother Contact Center ☎ 0-2665-7777